สีโห หรือ ท้าวสีโห เป็นตัวเอกในวรรณกรรมพื้นบ้านของกลุ่มชนลุ่มแม่น้ำโขง เรื่อง “สีโห” มีลักษณะลำตัวเป็นราชสีห์ ส่วนหัวเป็นช้าง มากด้วยบุญบารมี มีอิทธิฤทธิ์ สามารถแปลงกายได้หลายรูปแบบ มีพละกำลังมหาศาล มีเสียงร้องที่ดัง สามารถทำลายศัตรูและที่สำคัญ คือ มีความกตัญญูรู้คุณ จึงเป็นสิ่งที่สามารถถ่ายทอดแบบอย่างที่ดีให้เยาวชนได้ในปัจจุบัน เพื่อเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมที่มั่นคงแข็งแรงในอนาคต
เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ และสืบเนื่องมาจากการที่เทศบาลนครขอนแก่น ได้มีโครงการในการนำวรรณกำรรมสินไซ มาเป็นหลักสูตรท้องถิ่นในการพัฒนาเชิงการเรียนรู้ของวิถีชุมชน ซึ่งปรากฏเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนัง (ฮูปแต้ม) ที่โบสถ์วัดไชยศรี บ้านสาวะถี ตำบลสาวะถี อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ด้วยความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นในแง่มุมต่าง ๆ เทศบาลจึงได้ทำโครงการ การประดับตกแต่งเมืองกิจกรรมเฉลิม
พระเกียรติ “โครงการการติดตั้งเสาไฟฟ้าสีโห” นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ รองนายกเทศมนตรีนครขอนแก่น เปิดเผยว่า รูปตราสัญลักษณ์สีโห มีความหมายอันเป็นสิริมงคล เปรียบส่วนหัวของสีโหที่เหมือนช้าง หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ ความเจริญรุ่งเรืองมาสู่เมืองขอนแก่น ส่วนลำตัวเหมือนราชสีห์ หมายถึง ที่มีความสง่างาม มั่นคง ทั้งทางด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ประติมากรรมสีโห จึงเป็นสัญญลักษณ์ของเมืองที่มีทั้งความงดงาม น่าอยู่คู่กับการพัฒนาไปสู่ความเจริญด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่ยังตั้งอยู่บนพื้นฐานของวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสาน แบบแม่พิมพ์สีโห มีน้ำหนัก ๕๐ กิโลกรัม ตัวเป็ฯสีฟ้าคราม มีที่มาจากสีของฮูปแต้มฝาผนังของวัดไชยศรี ตั้งอยู่บนฐานสีทองเหลืองอร่ามที่มีฐานยึดมั่นคง แข็งแรงทั้งด้านบนของตัวเสา และด้านล่างของเสา ด้วยตัวยึดเหล็กถึง ๔ หุน เสาพ่นด้วนสีเขียวมรกต ซึ่งสีที่ใช้พ่นเป็นที่ใช้ในการพ่นรถยนต์ยี่ห้อดังของประเทศไทย ที่มีความทนทานทั้งแดดและฝน หลอดไฟเป็นหลอดชนิดพิเศษ ออกแบบเป็นรูปหยดน้ำซึ่งมีรูอยู่ด้านล่างให้น้ำ-แมลงไหลออกได้ ให้ความสว่างไสว และประหยัดไฟกว่าหลอดไฟธรรมดา ดำเนินการตั้งแต่บริเวณเกาะของศาลเจ้าพ่อหลักเมือง จนถึงหน้าสำนักงานเทศบาล จำนวน ๑๓ ต้น และบริเวณสี่แยกถนนมิตรภาพถึงถนนศรีจันทร์ (ทางเข้าประตูเมืองสู่ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง) อีก ๖๗ ต้น รวมทั้งหมดจำนวน ๘๐ ต้น ซึ่งมีความหมายมาจาก ๘๐ พรรษาของในหลวง รวมระยะทาง ๗๐๐ เมตร
ประติมากรรมรูปปั้นสีโห จึงเป็นสัญลักษณ์ของเมืองที่มีความงดงามเหมาะสมกับการเป็นเมืองน่าอยู่คู่กับการพัฒนาไปสู่ความเจริญด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่ตั้งอยู่บันพื้นฐานของภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างมั่นคงและยั่งยืน