ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
Latitude : N 16° 7' 36.0001"
16.1266667
Longitude : E 102° 32' 31.9999"
102.5422222
No. : 197622
หลวงปู่ผาง จิตฺตคุตฺโต วัดอุดมคงคาคีรีเขต อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น
Proposed by. ขอนแก่น Date 27 October 2022
Approved by. ขอนแก่น Date 27 October 2022
Province : Khon Kaen
0 483
Description

หลวงปู่ผาง จิตฺตคุตฺโต วัดอุดมคงคาคีรีเขต อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่นนามเดิมของท่านชื่อ ผาง ครองยุต เกิดเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๕ ตรงกับวันอังคาร ขั้น ๒ ค่ำ เดือน ๕ ปีขาล ที่บ้านกุดเกษียร อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี บิดาชื่อ ทัน มารดาชื่อ บับพา ครองยุต มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ๓ คน คนแรกเป็นหญิงชื่อ บาง ซึ่งบวชเป็นชีอยู่ที่วัดอุดมคงคาคีรีเขต คนที่สองชื่อ คำแสน หลวงปู่ผางเป็นลูกคนสุดท้อง บิดาและมารดามีอาชีพทำนาเป็นหลัก

การศึกษาทางโลกของหลวงปู่มีความรู้สามัญชั้นประถมปีที่ ๔ หลวงปู่มีอุปนิสัยรักความเป็นธรรม ถือความซื่อสัตย์ พูดจริงทำจริง รักธรรมชาติ ชอบความสงบ เมตตาสัตว์มีแนวความคิดสร้างสรรค์ และชอบทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม

เมื่อหลวงปู่มีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาตามประเพณีลูกผู้ชายชาวไทย ได้ศึกษาพระธรรมวินัยมีความรู้พอสมควร ต่อมาเมื่ออกพรรษาจึงได้ลาสิกขาจากสมณเพศมาประกอบสัมมาอาชีพ หลังจากได้ลาสิกขาแล้วก็สมรสกับนางจันดี ตามประเพณี ได้ครองเรือนมาด้วยกันอย่างราบรื่นเป็นเวลานานหลายปีโดยไม่มีบุตรสืบสกุล จึงได้ขอบุตรญาติมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม

เมื่อครั้งยังเป็นฆราวาส หลวงปู่เป็นคนขยัน อาจริงเอาจังกับการงานได้ประกอบสัมมาอาชีพโดยช่วยบิดามารดาทำไร่ทำนา บางครั้งก็เป็นพ่อค้าเรือใหญ่บรรทุกข้าวจากแม่น้ำมูลไปขายตามลำน้ำชีน้อย บางครั้งก็เป็นพ่อค้าวัว นำวัวไปขายที่เขมรต่ำหลวงปู่ได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการสร้างฐานะให้แก่ครอบครัว

หลวงปู่ผางได้ใช้ชีวิตในเพศฆราวาสเป็นระยะเวลานาน สามารถรอบรู้เหตุการณ์ที่ผ่านมาพิจารณาดูความเปลี่ยนแปลงของชีวิตและหมู่สัตว์ทั้งหลายบรรดามีในโลก เมื่อเกิดมาแล้วต่างก็สับสนวุ่นวายแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นเป็นที่เดือดร้อนไม่สุดสิ้น หลวงปู่มีบุญบารมีมากทำให้ท่านมองเห็นความไม่แน่นอนและความไม่มีแก่นสารในชีวิต ทำให้จิตใจของท่านโน้มเอียงไปในทางแห่งความสงบ ท่านได้ทำทานเป็นการใหญ่ โดยได้ให้เกวียน วัว บ้าน ไร่ นา แก่ผู้อื่น สละทุกสิ่งทุกอย่างจนหมดสิ้น

ธรรมโอวาท
หลวงปู่ผาง จิตฺตคุตฺโต เป็นพระนักปฏิบัติที่มั่นคงอดทนเป็นเลิศรูปหนึ่ง ชอบทำมากกว่าพูด บทโอวาทเทศนาสั่งสอนต่างๆ จึงไม่ค่อยมี ท่านมีอุดมคติอยู่ว่า “มีชื่อบ่อยากให้ปรากฏมียศบ่อยากให้ลือชา” ศีลข้อห้าเป็นข้อที่หลวงปู่ย้ำเน้นตลอดมา หลวงปู่มักจะให้โอวาทให้พรว่า “อย่าสิเอาพระรัตนตรัยไปกินเหล้า เด้อ” , “ให้สำบาย ๆ เด้อ” , “ให้อยู่ดีมีแฮง เด้อ”

เนื่องจากหลวงปู่ไม่เป็นพระนักพูดนักเทศน์ที่ดี แต่สอนคนอื่นแล้วตนเองไม่ปฏิบัติตามด้วยเหตุนี้จึงไม่สามารถจะนำบทเทศนาสั่งสอนมาลงให้เป็นเรื่องเป็นราวได้เหมือนอย่างที่เห็นโดยทั่วไป แต่ก็พอสรุปโอวาทที่หลวงปู่เคยพร่ำสอนบรรดาสานุศิษย์อยู่โดยมากได้ดังนั้น
– ให้พากันวางความตาย อย่าเสียดายความมี ตู้คัมภีร์ใหม่อยู่ในกายเฮานี่ (ให้พากันวางความตายอย่าเสียดายความมั่งมี ตู้พระไตรปิฎกอยู่ในกายของเรานี้)
– ให้พากันพายเฮือข่วมทะเลหลวงให้ม่นฝั่ง อย่าสิกลับต่าวปิ้นนำ พั่วหมากแบ่งดง (ให้พากันกายเรือข้าวทะเลหลวงให้รอดฝั่ง อย่าได้กลับมาวนเวียนอยู่กับวัฏฏสงสาร)
– ให้ภาวนาว่า ตายๆ ผีกะย่าน บ่กล้ามใกล้ดอก (ให้ภาวนาว่า ตายๆ ผีก็จะกลัว ไม่กล้าเข้ามาใกล้)
– หมอบๆ เข่าหัวเท่าง่ายาง ย่างโย่งๆ หัวแทบขี้ดิน (คนพาลถึงจะทำเป็นอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างไร เขาก็รู้ว่าเป็นคนพาลอยู่นั่นเอง หรือได้แก่คนที่เคารพแต่กายส่วนใจไม่เคารพ ส่วนคนดีมีความเคารพ ถึงแม้จะคุยโวไม่เคารพ แต่ใจนั้นเคารพอยู่)
– มีดพร้าโต้ควงแบกท่วมหู คนมันบางท่อคูคันต้อน ซุยซำซะ ลากขี้ดินจำก้น (คนผู้มีอาวุธคือปัญญาหรือศีลธรรมอันยิ่งใหญ่ ถึงแม้ว่าจะแสดงตนว่าไม่ดีอย่างไร เขาก็รู้ว่าเป็นคนดีอยู่นั่นเอง)
– คนสามบ้านกินน้ำส่างเดียว เที่ยวทางเดียว บ่เหยียบฮอยกัน (คนสามหมู่บ้านดื่มน้ำจากบ่อเดียวกัน เดินบนเส้นทางเดียวกันแต่ไม่เหยียบรอยเท้ากันหมายถึง คนทุกวันนี้ดื่มน้ำจากแหล่งเดียวกันคือ น้ำประปา และการเดินทางทุกวันนี้ใช้รถยนต์ไม่มีรอยเท้าให้เห็น)
– อย่างได้มัวเมาหม่นนำดวงดอกไข่เน่า เมานำพั่วหมากหว้ามันสิช้าค่ำทาง (อย่าได้มัวเพลิดเพลินอยู่กับดอกไม้หอมในป่า หรือลูกไม้ในป่า จะทำให้ชักช้าไปไม่ถึงที่หมาย หมายถึงอย่าได้มัวเพลินอยู่ในกามารมณ์ จะทำให้เราชักช้าไม่พ้นวัฏฏสงสาร)
– ลิงกับลิงชิงขึ้นต้นไม้ บัดสิได้แม่นบักโกกนาโถ (เมื่อลิงทั้งหลายแย่งชิงกันขึ้นต้นไม้ ตัวที่แย่งได้เป็นตัวที่มีความคล่องแคล่วว่องไว กว่าเพื่อน)
– นักปราชญ์ฮู่หลง หงส์ทองถึกบ้วง ควายบักตู้ตื่นไถ (นักปราชญ์ยังมีโอกาสพลาด หงส์ทองยังมีโอกาสติดบ่วง และควายที่คุ้นกับไถก็ยังตื่นไถได้ หมายถึงบุคคลผู้รู้จักบาปบุญแล้วยังหลวงทำความชั่วได้ บุคคลผู้มีสติก็ยังขาดความระมัดระวัง และบุคคลที่เป็นผู้รู้แล้วยังเป็นพาลได้)
– อย่าพากันเที่ยวทางเวิ่งเหิงหลายมันสิค่ำ เมานำพั่วหมากหว้ามันสิช้าค่ำทาง (อย่าพากันเถลไถลออกจากทางตรงเดี๋ยวจะมีค่ำก่อน อย่ามัวเพลินกับผลไม้ป่าจะทำให้ชักช้ามือค่ำในระหว่างทางได้)
– พุทโธ พุทโธ หัวใจโตกะรักษาบ่ได้ (รู้จักแต่พุทโธ พุทโธ แต่ไม่รู้จักจิตใจของตัวเอง)
– ศีลมีมากมายหลายข้อ บ่ต้องรักษาเหมิดทุกข้อดอก รักษาแต่ใจเจ้าของอย่างเดียวให้ดีท่อนั้น กาย วาจา กะสิดีไปนำกัน (ศีลมีมากมายหลายข้อ ไม่ต้องรักษาหมดทุกข้อหรอก รักษาแต่ใจตัวเองอย่างเดียวให้ดีเท่านั้น กายวาจาก็จะดีไปด้วยกัน)

ปัจฉิมบท
หลวงปู่ผางเป็นพระสงฆ์ผู้มีจิตใจเมตตาอยู่เสมอ ท่านบำเพ็ญพรหมวิหารธรรม เมตตาบารมีของท่านนี้เป็นกระแสธรรมที่นุ่มนวลเยือกเย็น ในวัดอุดมคงคาคีรีเขต มีบึงเป็นที่อาศัยของจระเข้อยู่แห่งหนึ่ง ทราบว่ามีหลายตัวบางคราวน้ำป่าหลากมามาก ทำให้จระเข้หนีไปอยู่ในถิ่นอื่น หลวงปู่ต้องตามไปบอกให้กลับมาเฝ้าวัดที่บึงแห่งเดิม และจระเข้ก็กลับมาจริง ๆ ด้วย เล่ากันว่าวันที่หลวงปู่มรณภาพ จระเข้ลอยไปทางด้านเหนือของบึงและร้องเสียงดังอยู่เป็นเวลานาน คล้ายจะบอกให้รู้ว่าหลวงปู่จะจากพวกเราไปแล้ว และเป็นการแสดงถึงความอาลัยอาวรณ์ของสัตว์ คราวหนึ่งได้มีการสร้างกุฏิในบึงดังกล่าว พวกช่างไม่กล้าลงไปปักเสาในน้ำเพราะกลัวจระเข้ หลวงปู่ต้องลงไปยืนแช่ในน้ำ คอยไล่ไม่ให้จระเข้เข้ามารบกวนพวกช่าง เมื่อถูกถามว่าไม่กลัวจระเข้หรือ หลวงปู่ตอบว่าเลี้ยงมันมาแต่เล็กแต่น้อยจะไปกลัวมันทำไม อีกเหตุการณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงพลังเมตตาของหลวงปู่คือ หลายครั้งที่เกิดเหตุไฟป่าใกล้กับบริเวณวัดบรรดาสัตว์ป่านานาชนิดกระเสือกกระสนหนีไฟเข้าไปอาศัยในเขตวัด ส่วนพวกที่หนีไฟไม่ทันเพราะหมดกำลังและยังอ่อนก็ถูกไฟไหม้ตายเป็นกองอย่างน่าเอน็จอนาถ หลวงปู่ย่อมเห็นเหตุการณ์โดยตลอด ด้วยพลังแห่งเมตตาธรรมที่มีอยู่ในใจเป็นเหตุให้หลวงปู่ต้องอดอาหารเป็นเวลาหลายวัน เข้านั่งสมาธิเพื่ออุทิศกุศลผลบุญให้แก่สัตว์ที่ถูกไฟไหม้ตาย

หลวงปู่ผางเป็นพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัยท่านเป็นผู้มีจิตใจเข็มแข็งแก่กล้ามาก ปฏิภาณไหวพริบเฉียบแหลม อีกทั้งวาจาของท่านที่พูดออกมาก็มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นจริงดังคำพูดของท่านเสมอ

“วาจาสิทธิ์” หลวงปู่ผาง จิตฺตคุตฺโต เป็นพระคณาจารย์ผู้เคยฝากตายไว้กับบุญบารมีกลางป่าเขา จนสามารถสร้างพลังจิตมหัศจรรย์เป็นที่ประจักษ์ บางคนที่เป็นศิษย์กล่าวว่า หลวงปู่เป็นผู้มีวาจาสิทธิ์มาก ถ้ากล่าวคำใดก็จะเป็นคำนั้น หลวงปู่เคยห้ามในการถ่ายรูป ต้องได้รับอนุญาตจากท่านเสียก่อน เรื่องนี้มีพระภิกษุที่ไม่ค่อยสำรวมรูปหนึ่ง ท่านมาจากวัดใดก็ไม่ทราบ พอท่านมาถึงแล้วอาศัยเป็นพระทันสมัย แขวนกล้องถ่ายรูปเดินอาดๆเข้าไปยังบริเวณวัด ติดตามด้วยลูกศิษย์ส่งเสียงดัง…ลั่นวัด พระรูปนั้นเดินเข้าไปพบหลวงปู่ผาง ซึ่งขณะนั้นกำลังสนทนากับพระอีกรูปหนึ่ง พระภิกษุทันสมัยรูปนั้นมาถึงก็ยกกล้องที่แขวนคออยู่ถ่ายรูปทันทีหลวงปู่ผาง หันมาพูดว่า “พระผีบ้าอันหยังมาถ่ายรูป…เป็นบ้าบ่” พอหลวงปู่พูดขาดคำพระทันสมัยตกใจกลัวจนตัวสั่น ต่อมาพระรูปนั้นเกิดเสียจริต…เป็นบ้าเป็นบอตามวาจาที่หลวงปู่พูดจริงๆ และตั้งแต่บัดนั้นมา หลวงปู่พอได้ยินเรื่องนี้เข้าท่านก็ไม่เคยพูดว่ากล่าวใครอีกเลย แม้จะมีคนถ่ายรูปท่าน ท่านก็ไม่พูดอีกต่อไป ปล่อยจิตใจของท่านอย่างสบาย ๆ เฉย ปกติหลวงปู่เป็นพระเงียบ ๆ ถือสันโดษ ยิ้มยากที่สุดจนทำให้ผู้เข้าไปหาท่านเกิดความเกรงกลัวและคิดว่าท่านดุ ความจริงแล้วหลวงปู่เป็นผู้มีความเมตตา วางอุเบกขา นิ่งเฉยเป็นนิสัย มุ่งมั่นปฏิบัติดีและปฏิบัติชอบมากกว่าสิ่งอื่น ถ้าผู้ใดได้น้อมคำถามเรื่องการปฏิบัติแล้วหลวงปู่จะเมตตาสอนแนะนำเป็นกรณีพิเศษ และที่สำคัญหลวงปู่จะนิยมนักในเรื่อง “สัจจะ” ท่านกล่าวว่า “ถ้าผู้ใดมีสัจจะแล้ว ผู้นั้นย่อมเจริญ ไม่ทุกข์ยากลำบาก”

Location
วัดอุดมคงคาคีรีเขต
Amphoe Mancha Khiri Province Khon Kaen
Details of access
ฐานข้อมูลพระรัตนตรัยอีสาน ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวทิยาลัยขอนแก่น
Email khonculture@gmail.com
Comment
Please Login Before comment.

Username
Password
No comment.
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่