หลวงพ่อพระศรี ๕๐ ปี มข. หรือหลวงพ่อพระศรีปัญญาสภูริฐานเป็นพระพุทธรูปไม้สักทองทั้งองค์ ประดิษฐานที่หอพุทธศิลป์ ณ พุทธศิลป์สถาน สำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่สร้างตามต้นแบบหลวงพ่อพระใส ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศิลปะสมัยล้านช้าง มีขนาดหน้าตักกว้าง ๒.๔๐ เมตร สูง ๓.๒๐ เมตร
ประวัติการสร้างในวาระครบรอบ ๕๐ ปี มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีดำริในการสร้างพระพุทธรูปเพื่อเป็นที่สักการบูชาและเป็นสิริมงคลแก่บุคลากรและประชาชนทั่วไป ซึ่ง รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ ผู้ได้รับมอบหมายจึงได้ดำเนินการกำหนดรูปแบบการสร้างพระพุทธรูปโดยใช้ฐานความรู้งานวิจัยที่ศึกษาเรื่องพระพุทธรูปไม้ในภาคอีสาน ในการสร้างพระพุทธรูปไม้ในโอกาสสำคัญยิ่งนี้ มีกระบวนการมีส่วนร่วมจากบุคลากรและชุมชนหลายฝ่าย ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบและคัดเลือกไม้มงคลตลอดจนกระบวนการแกะสลักองค์พระซึ่งมุ่ง สะท้อนความงดงามของพระพุทธรูปผ่านศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสาน จึงสำเร็จเป็นพระพุทธรูปไม้สักทองทั้งองค์ปางมารวิชัยหน้าตักกว้าง ๒.๔๐ เมตร สูง ๓.๒๐ เมตร นับเป็นพระพุทธรูปไม้องค์ใหญ่ที่สุดที่สะท้อนอัตลักษณ์ของอีสานตามต้นแบบของหลวงพ่อพระใสที่สร้างในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช แห่งอาณาจักรล้านช้าง มีชื่อว่า “หลวงพ่อพระศรี ๕๐ ปี มข.” หรือ “พระศรีปัญญาสภูริฐาน” หมายถึง หลวงพ่อพระศรีที่ประดิษฐานไว้ ณ แหล่งภูมิปัญญาดังแผ่นดิน ในวาระ ๕๐ ปี มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการสร้าง และเป็นนัยว่าสร้างเพื่อสืบทอดต่อจากกลุ่มพระพุทธรูปในภาคอีสาน โดยมีหลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย จังหวัดหนองคาย เป็นต้นแบบ ซึ่งเป็นกลุ่มพระพุทธรูปที่มีชื่อแบบท้องถิ่น เช่น พระสุก พระเสริม พระใสและพระแสง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระแสงวัดศรีเทพประดิษฐาราม จังหวัดนครพนม และพระใสวัดโพธิ์ชัย จังหวัดหนองคาย นับเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญในภาคอีสาน
คติความเชื่อและประเพณีที่เกี่ยวข้องการสร้างหลวงพ่อพระศรี ๕๐ ปี มข. มุ่งให้เกิดความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตและชุมชนโดยมีกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนมีพิธีกรรมตามคติความเชื่อ ความศรัทธา และความสามัคคีของชุมชนท้องถิ่นอีสาน ที่จะทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกับชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ดังนั้น ฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและชุมชนสัมพันธ์โดยสำนักวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับวัดไชยศรี ตำบลสาวะถี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ได้มีการสมโภชหลวงพ่อพระศรี ๕๐ ปี มข. ขึ้นตามประเพณีท้องถิ่นอีสาน และกำหนดให้มีการสักการบูชาหลวงพ่อพระศรี ๕๐ ปี มข. ในช่วงเทศกาลลอยกระทงของทุกปีเพื่อให้เป็นพระเพณีและสิริมงคลแก่บุคลากร นักศึกษา และประชาชนสืบไป