สงกรานต์แห่หงส์ ธงตะขาบ ( โหน่)
“หงส์” เป็นสัญลักษณ์แทนตัวตนของกลุ่มชาติพันธุ์มอญ ที่ปรากฏออกมาภายในวัดทุ่งเข็น ถึงแม้ว่าการสร้างสถาปัตยกรรมยังไม่เป็นรูปแบบศิลปะมอญมากนักก็นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟู และแสดงออกถึงการมีอยู่ของชาติพันธุ์มอญของชุมชนคนมอญบ้านทุ่งเข็น ต่อมาชุมชนได้เริ่มมีการรับรู้ และยอมรับตัวตนของคนมอญจึงแสดงออกทางสถาปัตยกรรมอย่างเด่นชัดเป็นรูปธรรมมากขึ้น วัดและชุมชนร่วมกันสร้างสถาปัตยกรรมในรูปแบบของศิลปะมอญ โดยเฉพาะมณฑปประดิษฐานรูปหล่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) มีหลังคามณฑปออกแบบให้มีลักษณะแบบมอญ อีกทั้งยังปั้นรูปหงส์ที่แตกต่างไปจากปูนปั้นรูปหงส์ที่กำแพงอุโบสถ กล่าวคือ รูปปั้นหงส์ที่อยู่กำแพงมณฑปปั้นเป็นรูปหงส์ศิลปะแบบมอญ
นอกจากรูปหงส์ที่เป็นปูนปั้นทั้งที่ประดับกำแพงพระอุโบสถหรือรูปปั้นหงส์ที่เป็นศิลปะมอญ ที่ประดับอยู่รายรอบมณฑปวัดทุ่งเข็น และยังมีอาคารอื่นที่ใช้ในการปฏิบัติศาสนกิจของพระสงฆ์ หรือสถานที่ ที่ประชาชนเข้ามาขอใช้ก็มีสัญลักษณ์เป็นรูปหงส์ เช่น รูปปูนปั้นหน้าบรรณที่ศาลารวมใจภายในวัดทุ่งเข็น
ธงตะขาบ หรือ โหน่ เป็นการสร้างขึ้นเพื่อเป็นการไถ่บาป ซึ่งไม่เกี่ยวข้องพุทธประวัติ มีเรื่องเล่าว่ามีฤๅษี ๔ ตน บำเพ็ญตบะอยู่บนยอดเขา ๔ แห่ง ได้กระทำสัตย์ปฏิญาณไว้ว่าทุกๆ ปีจะชูธงขึ้นเหนือยอดเขา เพื่อเป็นสัญญาณว่ายังมีชีวิตอยู่หรือบรรลุธรรมไปตามลำพัง ต่อมามีฤๅษีตนหนึ่งได้สิ้นชีวิตลง และไปเกิดเป็นพระราชา อยู่มาวันหนึ่งพระราชามีอาการแสบร้อนในพระวรกายไม่สามารถทนได้จึงเรียกหมอ และโหรมาทำนายโหรทำนายถึงอดีตชาติของพระราชาได้กระทำการเสียสัตย์ต่อฤๅษีทั้งสามตน จึงได้เตรียมกระบวนเรือไปยังเขาสามลูกเพื่อขอขมาแก่ฤๅษี ขากลับพบกับกองงาช้างขนาดใหญ่จึงสั่งให้ทหารนำกลับไปยังพระราชวัง พญาตะขาบซึ่งเป็นเจ้าของงาช้างกลับมาไม่พบจึงได้ออกติดตามหางาช้าง ระหว่างทางมีปูยักษ์ขวางอยู่ ขบวนเรือพระราชาสามารถผ่านก้ามปูไปได้ แต่พญาตะขาบมีขนาดใหญ่กว่าจึงโดนก้ามปูหนีบขาดสองท่อนตายลง หลังจากพระราชากลับมาถึงพระราชวังรู้ถึงกรรมหนักที่ตนได้กระทำไว้จึงสร้างหอคอยงาช้างสูง ๗ ชั้น แล้วทำธงรูปตะขาบแขวนไว้บนหอคอยเพื่อระลึกถึงพญาตะขาบ
“ประเพณีแห่หงส์–ธงตะขาบ” ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยมอญบ้านทุ่งเข็น ซึ่งชาวบ้านจะช่วยกัน ใช้ผ้าสีแดงเป็นผืนยาวประดิษฐ์ธงเป็นรูปตัวตะขาบ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดยาว มีหัว และท้ายเป็นสามเหลี่ยม กลางผืนสอดไม้หรือวัสดุชนิดแข็งเย็บตรึงเป็นข้อๆ ประดับด้วยเลื่อมหรือวัสดุสะท้อนแสงให้เกิดความสวยงาม ด้านบนประดับรูปหงส์ และประดิษฐ์เป็นธงขนาดเล็กสำหรับไว้ถือในขบวนแห่ธงตะขาบเมื่อเสร็จแล้ว ดูไกล ๆ จะคล้ายตัวตะขาบ ชาวมอญเรียกธงนี้ว่า “อะลามเทียะกี้” ปฏิบัติกันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ กำหนดให้ตรงกับวันที่ 15 เมษายน ของทุกปี ตอนเช้ามีการทำบุญ ตักบาตร ชาวมอญแต่งกายด้วยชุดประจำชาติพันธุ์ด้วยสีสันที่สดใส หลังจากการทำบุญเสร็แล้ว ชาวบ้านทุ่งเข็น จะรวมตัวตั้งขบวนแห่ สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ มีการแห่รูปปั้นหงส์ไปพร้อมๆ กันด้วยนำด้วยรูปปั้นหงส์ ตามด้วยธงตะขาบที่วิจิตรงดงามพร้อมทั้งถือเครื่องสักการะ โดยแห่ไปตามหมู่บ้าน และเคลื่อนขบวนไปเวียนรอบอุโบสถวัดทุ่งเข็นจำนวน ๓ รอบ หลังจากนั้นนำธงตะขาบไปแขวนไว้บนเสาหงส์บริเวณด้านหน้าอุโบสถของวัดทุ่งเข็น เรียกว่า “แห่หงส์ ธงตะขาบ” อันเป็นสัญลักษณ์ของวัดมอญ เพื่อแสดงให้ผู้คนทราบว่าบริเวณนั้นเป็นวัดหรือปูชนียสถาน ทั้งยังเป็นการถวายพุทธบูชาด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ประเพณีแห่หงส์ – ธงตะขาบ ยังถือเป็นการปัดเสนียดจัญไรในหมู่บ้าน และด้วยอำนาจบารมีแห่ธงตะขาบ จะเป็นการนำความมีโชคชัย ความสุขสวัสดีมาสู่ทุกคนในหมู่บ้าน เป็นสิริมงคล และป้องกันการเจ็บป่วย เพราะผู้ใดถ้ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาเข้าฝันแล้วไม่ดำเนินการตาม ก็จะทำให้เกิดการเจ็บป่วย โดยหาสาเหตุไม่ได้
ด้วยคำบอกเล่า และตำนานที่กล่าวมาข้างต้น จึงเป็นเหตุที่มาของการมี “ธงตะขาบ” ของชาวมอญเรียกว่า “อะลามเทียะกี่” เป็นการทำขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์หลายประการ ทั้งการไถ่บาป การขอขมาลาโทษ การบูชา การเฉลิมฉลอง การแสดงความยินดี ทั้งหมดจะแฝงด้วยคติธรรม ตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่ชาวมอญเคารพนับถือ และการปฏิบัติตนในการคลองเรือนให้เกิดความสุข ฉะนั้นชาวมอญเห็นว่าธงตะขาบสามารถถ่ายทอดออกมาเป็นปริศนาได้เป็นทางโลก และทางธรรม ดังนี้
๑. ทางโลก ตะขาบเป็นสัตว์ที่ลำตัวยาว มีเทามาก มีเขี้ยวเล็บที่มีพิษ สามารถต่อสู้กับศัตรู ที่จะมาระราน และสามารถรักษาเองได้ เปรียบเสมือนคนมอญที่มิเคยหวาดหวั่นต่อข้าศึกศัตรู สามารถปกป้องคุ้มครองตนเองได้ อีกนัยหนึ่ง ตะขาบเป็นสัตว์ที่มีลูกมาก แม่ตะขาบจะคอยดู และปกป้องลูกไว้ในอ้อมอก เมื่อใดที่ลูกของมันเลื้อยออกมาอยู่กระจัดกระจาย แม่ตะขาบจะตะแคงลำตัวโอบลูก ๆ เข้ามาแล้วขดไว้เป็นวงกลม ซึ่งหมายความว่า หากคนมอญสามารถทำตนเองเหมือนตะขาบแล้ว คนมอญจะเจริญรุ่งเรือง และจะอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุขตลอดไป
๒. ทางธรรม คนมอญจะตีความออกมาเป็นปริศนาธรรม ทั้งสิ้น หนวด ๒ เส้น หาง ๒ หาง เขี้ยว ๒ เขี้ยว ตา ๒ ข้าง ลำตัว ๒๒ ปล้อง ขา 20 คู่ (40 ขา) กล่าวโดยละเอียดได้ ดังนี้
๒.๑ หนวด ๒ เส้น ได้แก่ ธรรมที่มีอุปการะมาก ๒ อย่าง คือ สติ หมายถึงความระลึกได้ และสัมปชัญญะ หมายถึงความรู้ตัว
๒.๒ หาง ๒ หาง ได้แก่ ขันติ คือความอดกลั้น และโสรัจจะ คือความสงบเสงี่ยมเจียมตัว
๒.๓ เขี้ยว ๒ เขี้ยว ได้แก่ หิริ คือความละเอียดละอายแก่ใจ เมื่อทำชั่ว และโอตัปปะ คือ ความเกรงกลัวเมื่อทำบาป
๒.๔ ตา ๒ ข้าง หมายถึง บุคคลที่หาได้ยาก ๒ ประเภท คือ บุพพการี คือบุคคลผู้ให้อุปการะมาก่อน และกตัญญูกตเวที คือบุคคลผู้รู้อุปการะที่ท่านทำมาแล้ว และทำตอบแทนท่าน
๒.๕ ลำตัวหัวถึงหาง ๒๒ ปล้อง ได้แก่ สติปัฎฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท 4 อินทรีย์ ๕ และพละ ๕
๒.๖ ขามี 20 คู่ (40 ขา)ได้แก่ กุศลกรรมบท ๑๐ บุญกริยาวัตถุ ๑๐ นาถกรณธรรม ๑๐ และอนุสติ ๑๐
จากการที่ชาวมอญเป็นผู้ที่นับถือศาสนาพุทธอย่างเคร่งครัด สิ่งใดที่เป็นการกระทำเพื่อ พุทธศาสนาแล้ว ชาวมอญจะต้อนรับเสมอดังเช่น ธงตะขาบที่มีตำนานเล่าขานกันมา และเมื่อทำธงตะขาบแล้ว ก็จะนำขึ้นแขวนบนเสาหงส์ จึงถือว่าเป็นการบูชาองค์สัมมาสัมมาพุทธเจ้านั่นเอง