อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง เดิมเป็นอำเภอท้องที่ตำบลพลาและตำบลสำนักท้อน ขึ้นตรงทางการปกครองกับอำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ต่อมาปี พ.ศ. 2506 รัฐบาลอเมริกันได้ส่งกำลังทหารมาทำสงคราม กับประเทศเวียดนาม โดยก่อสร้างและขอใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นส่วนหนึ่งของที่ตั้งฐานทัพ เป็นผลให้ก่อเกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองขึ้นในภูมิภาค มีผู้คนหลั่งไหลอพยพเข้ามามากมาย จนได้รับการยกฐานะเป็นหน่วยการปกครองระดับกิ่งอำเภอเมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม 2519 โดยใช้อาคารพานิชจำนวน 2 คูหา ในบริเวณศูนย์การค้าบ้านฉางเป็นอาคารที่ทำการบริการประชาชน ต่อมาได้ย้ายอาคารที่ทำการมาก่อสร้างเป็นที่ว่าการ กิ่งอำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภอบ้านฉางหลังปัจจุบัน ซึ่งเป็นอาคารไม้ตามแบบมาตรฐานขนาดเล็ก ตั้งแต่ปี 2523 เป็นต้นมา หลังจากนั้นก็มีการแบ่งเป็นหมู่บ้านและตั้งตำบลใหม่ขึ้นอีก 1 ตำบล คือตำบลบ้านฉางและต่อมาได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2528 อาคารที่ว่าการอำเภอหลังเก่ามีอายุประมาณ 30 ปี เป็นอาคารไม้ขนาดเล็ก มีสภาพชำรุดทรุดโทรมและคับแคบ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยจึงได้จัดสรรงบประมาณเหลือจ่าย ประจำปี 2551 ให้ก่อสร้างอาคารที่ว่าการอำเภอหลังใหม่ขึ้นทดแทน เป็นอาคาร 2 ชั้น ตามแบบมาตรฐานกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นเงิน 15,892,195 บาท โดยเริ่มก่อสร้างวันที่ 27 ธันวาคม 2551 และประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์และยกเสาเอกอาคารที่ว่าการอำเภอบ้านฉางในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2552 โดยมีนายชิดพงษ์ ฤทธิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง (ปี 2552 ) เป็นประธานในพิธี
ความเชื่อเกี่ยวกับพิธีวางศิลาฤกษ์
คำว่าศิลาฤกษ์ พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานอธิบายไว้ว่าศิลาฤกษ์เป็นคำนาม หมายถึงแผ่นหินที่จารึกดวงชะตาของสถานที่ที่จะก่อสร้างแล้ววางตามฤกษ์อาจารย์สมบัติ พลายน้อย หรือ ส.พลายน้อย ผู้ทรงความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมท่านได้เขียนถึงเรื่องนี้ไว้ว่า พิธีวางศิลาฤกษ์ของไทยจะมีมาแต่ครั้งใดยังไม่พบหลักฐาน แต่การประกอบพิธีตามฤกษ์นั้นคงมีมาช้านานแล้ว เท่าที่พบเรื่องราวในศิลาจารึก มีการกล่าวถึงฤกษ์การสร้างพระวิหาร สร้างพระเจดีย์ สร้างพระพุทธรูป แต่ไม่พบเรื่องศิลาฤกษ์ที่เป็นแผ่นหิน คงถือฤกษ์เวลาก่อสร้างแต่อย่างเดียวคือฤกษ์ดีในเวลาใดก็ลงมือทำในเวลานั้น ในสมัยแรกทีเดียวเข้าใจว่า เมื่อกำหนดฤกษ์แล้วก็ลงมือก่อสร้างให้ตรงกับฤกษ์ ครั้นต่อมามีบุคคลสำคัญมาเป็นผู้ก่อสร้างตามฤกษ์ ก็ใช้อิฐในการก่อสร้างวางลงก่อนคนอื่น การวางอิฐนี้เองน่าจะเป็นที่มาของการวางแผ่นหินหรือศิลาฤกษ์ในเวลาต่อมา
พิธีวางศิลาฤกษ์ เป็นพิธีวางแผ่นศิลาจารึกเวลา วัน เดือน ปี อันเป็นมงคล ที่เรียกว่า ดวงฤกษ์ แห่งการก่อสร้าง ไว้ ณ บริเวณสถานที่ก่อสร้างอาคารถาวรต่าง ๆ เช่น อาคารทางศาสนา มีโบสถ์ ศาลาการเปรียญ เป็นต้น อาคารของทางราชการ มีศาลากลางจังหวัด ศาลาเทศบาล อาคารกองบังคับการของหน่วยทหาร เป็นต้น อาคารของเอกชน มีธนาคาร ภัตตาคาร เป็นต้น จุดประสงค์ของการทำพิธีก็เพื่อให้อาคารเหล่านั้นเกิดความถาวรมั่นคงและผู้อาศัยอยู่เย็นเป็นสุขตลอดไป การทำพิธีวางศิลาฤกษ์เช่นว่านี้ ตามประเพณีโบราณมักนิยมตอกไม้เข็มมงคลด้วย ไม้เข็มนั้น ประกอบด้วยไม้มงคล 9 ชนิด คือ 1. ไม้ชัยพฤกษ์ ถือเคล็ดว่ามีโชคชัย 2. ไม้ราชพฤกษ์ ถือเคล็ดว่าเป็นใหญ่เป็นโต 3. ไม้ทองหลาง ถือเคล็ดว่ามีเงินมีทอง 4. ไม้ไผ่สีสุก ถือเคล็ดว่าเกิดความสงบสุข 5. ไม้กันเกรา ถือเคล็ดว่าป้องกันภัยอันตรายมิให้เกิดขึ้น 7. ไม้ทรงบาดาล ถือเคล็ดว่าบันดาลให้เกิดความร่มเย็น 7. ไม้สัก ถือเคล็ดว่าเกิดความศักดิ์สิทธิ์ 8. ไม้พะยูง ถือเคล็ดว่าพยุงให้เกิดความมั่นคง 9. ไม้ขนุน ถือเคล็ดว่าหนุนให้เกิดพลังอานุภาพ ซึ่งไม้แต่ละชนิดดังกล่าวทำเป็นท่อนแต่ละท่อนความยาวประมาณ 12 นิ้ว เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้วครึ่ง เสี้ยมปลายให้แหลมเล็กน้อยเพื่อตอกลงดินได้สะดวก