ชาวไทลื้ออำเภอเชียงคำในอดีต มีเจ้าเมืองต่างๆ เป็นผู้นำชาวไทลื้ออพยพจากเมืองสิบสองปันนามาตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ และเจ้าเมืองเจียงแข็งเห็นว่าสถานที่ตรงบ้านดอนไชย เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐาน เนื่องจากมีลำน้ำญวน ลำน้ำอิงไหลผ่าน ดินดีอุดมสมบูรณ์ จึงลงหลักปักฐานนำชาวบ้านมาอาศัยอยู่ จนถึงปัจจุบัน ลูกหลานชาวไทลื้อบ้านดอนไชย จึงได้รวมตัวกันเพื่อระลึกรากเหง้าตนเอง รวมถึงสืบสานงานพิธีไหว้สา เจ้าฟ้าเจียงแข็ง ร่วมกันรำลึกถึงคุณงามความดีของท่าน“สืบเต๊าะฮีตฮอยไตลื้อ สองมือจั๊กเคอ ถ๊กเคอหาโหนย ”ซึ่งหมายถึง การรำลึกอดีตของคนไทลื้อ ด้วยการสืบค้นไปหาต้นตอบรรพบุรุษและน้อมรำลึกถึงบรรพชนโดยถือเอาวันเดือน 8 เหนือ ประมาณเดือนมิถุนายนของทุกปี ทำพิธีไหว้สาเจ้าฟ้าเจียงแข็ง
พิธีไหว้สาเจ้าฟ้าเจียงแข็งจะมีพิธีกรรมในการติดต่อสื่อสารกับเจ้าฟ้าเจียงแข็ง โดยการใช้วิธีการเสี่ยงทายจากเมล็ดข้าวสาร โดยนายสุบิน กองมงคล "ข้าวจ้ำ" หรือผู้ประกอบพิธีกรรม พิธีข้าวจ้ำเป็นการสื่อสารกับเทวดาเจ้าฟ้าบนสวรรค์ ว่าท่านได้รับอาหารคาวหวาน ของเซ่นไหว้ต่างๆ จนเป็นที่น่าพอใจหรือไม่ กระทำได้โดยการอธิษฐานจิตพร้อมกับหยิบข้าวสารที่ใส่ในถ้วยออกมาเพื่อทำการเสี่ยงทาย โดยสังเกตได้จากการนับเมล็ดข้าวสาร หากว่าจับคู่ของเมล็ดข้าวสารแล้วเหลือเศษ 1 เมล็ด แสดงว่า ท่านยังเสวยไม่อิ่มและต้องการจะเสวยต่อ ก็จะทำการตักข้าวปลาอาหารเพิ่มเติมลงไปในถ้วยซ้ำอีก พร้อมกับถวายอาหารให้กับคนเลี้ยงช้างม้าที่เป็นบริวาร จากนั้นก็เริ่มทำการเสี่ยงทายต่อ จนหยิบข้าวสารที่เสี่ยงทายนับออกมาเป็นคู่จนไม่มีเศษ แสดงว่าท่านพึงพอใจ และการทำเกษตรหรือการทำมาค้าขายจะประสบผลสำเร็จ หลังจากนั้นจะมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทลื้อ เช่น ฟ้อนเจิงฟ้อนดาบ การฟ้อนรำของหญิงไทลื้อ การขับลื้อ อันเป็นเอกลักษณ์ของไทลื้อสิบสองปันนา ถือเป็นประเพณีวัฒนธรรมที่สำคัญที่เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนไทลื้อบ้านดอนไชย เป็นการยกย่องเชิดชูบรรพบุรุษของชาวไทลื้อ อีกทั้งยังส่งเสริมให้คนในชุมชนมีความรักความสามัคคี มีความกตัญญูกตเวทิตาต่อผู้มีพระคุณ เสริมสร้างเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันของชุมชนและเสริมสร้างความผูกพันทางสังคมและร่วมกันอนุรักษ์ สืบสานมรดกทางวัฒนธรรมของชาวไทลื้อจากรุ่นสู่รุ่น