เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๙๙ เริ่มมีราษฎรกลุ่มแรกอพยพมาจากอำเภอพนมสารคาม เข้ามาทำไร่ ซึ่งบริเวณนี้มีลำห้วยที่ชาวบ้านใช้ในการอุปโภค บริโภค เรียกว่า ห้วยหิน ชาวบ้านจึงใช้เป็นชื่อเรียกหมู่บ้านว่า “บ้านห้วยหิน” จนถึงปัจจุบัน และ ในอดีตบริเวณนี้เป็นที่ตั้งสถานีรถไฟของบริษัทเอื้อวิทยา ที่ใช้สำหรับการขนส่งไม้จากบริเวณหมอนไม้ลาดกระทิง ไปยังโรงเลื่อยจักรที่ตำบลเกาะขนุน ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ได้แยกหมู่บ้านออกมาจากตำบลคู้ยายหมี เป็นบ้านห้วยหิน หมู่ที่ ๑ ตำบลลาดกระทิง โดยมีนายวิบูลย์ เข็มเฉลิม เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก
อาณาเขตของหมู่บ้านห้วยหิน ทิศเหนือติดต่อ ตำบลคู้ยายหมี อำเภอสนามชัยเขต ทิศใต้ติดต่อ หมู่ที่ ๗ ตำบลลาดกระทิง ทิศตะวันออก ติดต่อตำบลคู้ยายหมี อำเภอสนามชัยเขต ทิศตะวันตก ติดต่อ หมู่ที่ ๗ ตำบลลาดกระทิง และอำเภอพนมสารคาม
ลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบเหมาะสำหรับทำการเกษตร เช่นการปลูกพืชไร่ การทำนา การทำสวนผลไม้ การปลูกพืชผัก และการเลี้ยงสัตว์ สภาพอากาศร้อน การเดินทางเขาหมู่บ้าน จากอำเภอใช้ทางหลวงแผ่นดินสายสนามชัยเขต –คลองหาด ระยะทาง ๔ กิโลเมตร
สภาพทางสังคม ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ภาษาที่ใช้เป็นภาษาไทยภาคกลาง และภาคอีสาน มีขนบธรรมเนียมประเพณี ภาคกลางผสมประเพณีวัฒนธรรมภาคอีสาน มีภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้แก่ การทำนา การประกอบอาชีพของประชาชนส่วนใหญ่ ได้แก่ การทำนา ทำไร่ การทำสวนผลไม้และมีอาชีพเสริม ได้แก่ การปลูกไม้ดอกไม้ประดับ การทำปุ๋ยชีวภาพ การทำไม้กวาดผลิตภัณฑ์ในชุมชนได้แก่ น้ำยาล้างจาน สบู่เหลว มีแหล่งเรียนรู้ในชุมชน ได้แก่ สวนเรียนรู้วนเกษตร (นายวิบูลย์ เข็มเฉลิม ) สถานที่สำคัญของหมู่บ้าน ได้แก่ โรงเรียนบ้านห้วยหิน วัดห้วยหิน สวนเรียนรู้วนเกษตร ,ศูนย์ฝึกอาชีพคนตาบอด สหกรณ์เครดิตยูเนียน เป็นต้น มีแหล่งน้ำธรรมชาติหรือแหล่งน้ำที่สร้างขึ้นในหมู่บ้าน/แหล่งน้ำเพื่อการท่องเที่ยว ได้แก่ ห้วยหินใน ห้วยหินดาษ ห้วยสามเดือน อ่างเก็บน้ำห้วยหิน คลองหัวนา
ปัจจุบันบ้านท่าม่วง มีนายจำเนียร สับผาง เป็นผู้ใหญ่บ้าน