ทะเลธุง พุทธบูชา แห่งเมืองฟ้าแดดสงยาง จ.กาฬสินธุ์
ธุง สัญลักษณ์ของการทำความดีเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาจุดกำเนิดเล็กๆ ก่อให้เกิดเป็นประเพณีที่งดงาม ผสานกับการสืบสานพระพุทธศาสนา สิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้าน ในจังหวัดกาฬสินธุ์ และยิ่งเพิ่มความล้ำค่า ตระการตาจนเกิดเป็นทะเลธุง ในงานวิสาขปุณณมีปูชา
จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของชาวบ้านในจังหวัดกาฬสินธุ์เมื่อครั้งอดีตที่มีความตั้งใจในการสักการะบูชา เนื่องในวันสำคัญทางศาสนา บุญเดือน 4 หรือบุญผะเหวด ด้วยการทำธุงลายแมงมุม ลายธุงเริ่มแรก ด้วยการนำเส้นฝ้าย มาพันกับไม้ไผ่ในลักษณะรูปสี่เหลี่ยม รูปหกเหลี่ยม และรูปแปดแหลี่ยม
คุณแม่ผ่าน ศรีพันธ์ ชาวบ้านอำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์เล่าให้ฟังว่า ในพื้นที่ อ.กมลาไสย นั้นมีโบราณสถานที่ชาวบ้านและจังหวัดใกล้เคียงให้การสักการะ คือ พระธาตุยาคู และเป็นปกติในวันสำคัญทางศาสนา ที่ชาวบ้านจะนำธุง มาถวายเป็นพุทธบูชา ทั้งในวัดและศาสนสถานที่สำคัญ โดยตนเองได้เห็นและทำธุงมาตั้งแต่เด็ก เรียนรู้จากพ่อแม่ รุ่นสู่รุ่น ซึ่ง การทำธุง ปัจจุบันนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนหลากหลาย รูปแบบ ปัจจุบันประชาชนสนใจธุงในลักษณะ 3 มิติ ลายที่มีความยาก ประณีตมากขึ้น ซึ่งได้สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้ด้วยเช่นกัน
ธุง เป็นสัญลักษณ์ของการผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาวัฒนธรรมทางความเชื่อของชาวอีสาน ศิลปะของการร้อยเส้นด้ายสลับสีสวยงาม เมื่อนำเรียงร้อยตั้งแต่เล็ก ไปจนถึงธุงต้นใหญ่อ แกว่งปลิวไปตามลม ยิ่งสร้างความงดงามที่ลุ่มลึกได้เป็นอย่างดี
นายขัตติยา ชัยมณี วัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่าด้วยความเข้มแข็งของประเพณีในจังหวัดกาฬสินธุ์ ในบริบทของธุง จึงมีมากกว่าแค่สัญลักษณ์ของการบูชา เพียงอย่างเดียว เนื่องจากธุง มีความหมายในแง่ทางศาสนา ยังมีบทบาท ในการ ทำงาน เป็นการยึดหลักของศาสนาในการดำรงชีวิต ทำเงิน ก่อให้เกิดรายได้ในชุมชน ทำดี ในการจรรโลงจิตใจ
ซึ่งจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้จัดงานวิสาขปุณณมีปูชา ประเพณีสรงน้ำพระธาตุยาคูและเป็นโอกาสที่ ต้นธุง จากทั้ง 18 อำเภอ 1,600 กว่าต้น จะได้มาประดับ เพื่อการบูชาสักการะพระธาตุยาคู กลายเป็นบรรยากาศทะเลธุง ที่งดงามตระการตาเป็นอย่างยิ่ง
ด้วยจุดเริ่มต้นแห่งความศรัทธา เล็กๆ ก่อให้เกิดเป็นพลังเป็นความงดวามที่เข้มแข็งของประเพณี สัญลักษณ์แห่งการทำความดี สืบสานพระพุทธศาสนา ของชาวกาฬสินธุ์ จนเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความมั่นคงทางจิตใจ ทางรายได้ และมั่นคงในวิถีรากเหง้าวัฒนธรรม ให้คงอยู่สืบไป
ข้อมูลโดย:สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดกาฬสินธุ์