ประวัติความเป็นมา
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๐ บึงสีไฟ จังหวัดพิจิตร ได้มีการประกวดขนมไทยขึ้น และทีมพัฒนาชุมชนอำเภอโพธิ์ประทับช้างได้ ส่ง หมู่ ๔ บ้านวังกระโดน ตำบลโพธิ์ประทับช้าง อำเภอโพธิ์ประทับช้าง เข้าร่วมประกวด และได้รางวัลอันดับหนึ่ง ขนมสอดไส้ ซึ่งในปีนั้นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๔ บ้านวังกระโดน มีญาติ ซึ่งเป็นลูกพี่ชายของแม่ ชื่อนางสาววาสนา เทียมศร ได้กลับจากทำงานที่สมุทรปราการ ยังไม่มีงานทำหรือว่ายังไม่มีอาชีพที่เป็นหลักแหล่ง ผู้ใหญ่บ้านจึงได้ชักชวนมาจัดตั้งกลุ่มขนมไทยสูตรชาววังขึ้นเพื่อหาอาชีพให้คนในชุมชน และคุณวาสนา เทียมศร เป็นประธานกลุ่ม โดยมีสมาชิก ๒๖ คน ได้งบประมาณสนับสนุนจากพัฒนาชุมชนอำเภอ เป็นสินค้าโอท็อปประจำหมู่ ๔ บ้านวังกระโดน และมีสูตรเฉพาะตัวเป็นเอกลักษณ์ขนมไทย ได้ขึ้นทะเบียนโอท็อปทั้งหมด ๑๐ อย่าง แต่ที่โดดเด่นที่สุดคือ ขนมสอดไส้สูตรชาววัง ซึ่งสูตรนี้ไม่เหมือนกับที่อื่นในจังหวัดพิจิตร มีที่ หมู่ ๔ บ้านวังกระโดนที่เดียว สูตรนี้ต้นตำรับมาจาก อาจารย์แม่ทวีพร เทศดนตรี ณ จังหวัดสมุทรปราการ สูตรนี้ได้ทำขึ้นโต๊ะเสวยในสวนจิตลดา และส่งการบินไทย ส่งขายตามที่ต่างๆของจังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดใกล้เคียง ด้วยแรงบันดาลใจของผู้ใหญ่บ้าน ได้สนับสนุนกลุ่มนี้เป็นอาชีพในชุมชนในหมู่บ้าน เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนและครอบครัว สร้างเสริมอาชีพให้กับชุมชน ซึ่งขนมไทยจะใช้วัตถุดิบที่เป็นธรรมชาติ จากพื้นที่ในหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านเกิดรายได้สร้างรายได้อีกทางหนึ่ง
วัตถุประสงค์
๑) เพื่อจัดเก็บองค์ความรู้เรื่องการทำขนมโบราณพื้นถิ่นไทย “ขนมสอดไส้สูตรชาววัง” หมู่ ๔ บ้านวังกระโดน ตำบลโพธิ์ประทับช้าง อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร.
๒) เพื่อเป็นการสืบสาน รักษา และสืบทอดองค์ความรู้เรื่องการทำขนมโบราณ พื้นถิ่นไทย.
วัสดุ/อุปกรณ์
๑) ใบตอง
๒) ไม้กลัด
๓) เตี่ยว
๔) ซึ้งสำหรับนึ่ง
๕) มะพร้าวทึนถึก
๖) น้ำตาลโตนด
๗) แป้งข้าวเหนียวสีขาวและสีดำ
๘) กะทิสด
๙) น้ำตาลทราย
๑๐) แป้งข้าวเจ้า
๑๑) เกลือ
กระบวนการ/ขั้นตอน
๑) นำใบตอง มาตัดเป็น ๒ ขนาด เพื่อทำเป็นห่อสำหรับใส่ขนม
๒) นำมะพร้าวทึนถึกกวนกับน้ำตาลโตนดจนเหนียว ปั้นเป็นลูกขนาดนิ้วมือ
๓) นำไปผึ่งแดดให้แห้งแล้วอบควันเทียน
๔) นำแป้งข้าวเหนียวสีขาวและสีดำมาหุ้มไส้อีกทีหนึ่ง
๕) นำกะทิสด น้ำตาลทราย แป้งข้าวเจ้า และเกลือ ปรุงรสให้กลมกล่อม กวนจนเหนียวได้ที่
๖) นำแป้งมาหุ้มไส้ และตักใส่ห่อใบตอง ใช้เตี่ยวและไม้กลัดให้เรียบร้อย
๗) นำเข้าซึ้งนึ่ง ๒๐ นาที และนำออกมาตัดเตี่ยวให้มีขนาดเท่ากันเพื่อความสวยงาม
สถานที่ตั้งขององค์ความรู้
กลุ่มขนมไทย ชุมชนคุณธรรมบ้านวังกระโดน หมู่ ๔ เลขที่ ๓๑/๑ บ้านวังกระโดน
ตำบลโพธิ์ประทับช้าง อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร
คุณค่าและบทบาทของวิถีชุมชนที่มีต่อองค์ความรู้เรื่องนี้
๑) คุณค่าขององค์ความรู้ทางวัฒนธรรม
๑.ทำให้ทราบถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการจัดการองค์ความรู้ เรื่องการทำขนมโบราณพื้นถิ่นไทย “ขนมสอดไส้สูตรชาววัง” ในปัจจุบัน ของอำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร
๒.ทำให้ทราบถึงข้อเสนอแนะแนวทางการจัดการองค์ความรู้ เรื่องการทำขนมโบราณพื้นถิ่นไทย “ขนมสอดไส้สูตรชาววัง” ของอำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร ให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน
๒) บทบาทของชุมชนในการสืบสาน รักษา ต่อยอด ขององค์ความรู้ทางวัฒนธรรม
๑.การนิยมในสินค้าไทย อุดหนุนสินค้าที่ผลิตจากภูมิปัญญาไทย
๒.การรวมกลุ่มเพื่อร่วมอนุรักษ์ภูมิปัญญาด้านต่างๆ ตามความสมัครใจ ความสามารถของตนเอง นำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
การส่งเสริม สนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ หรือภาคเอกชนหรือภาคประชาสังคม
๑. สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร ร่วมกับเครือข่ายภูมิปัญญาจัดทำฐานข้อมูลมรดกภูมิปัญญาของกลุ่มขนมไทย ชุมชนคุณธรรมบ้านวังกระโดน หมู่ ๔ ตำบลโพธิ์ประทับช้าง อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร เรื่องการทำขนมสอดไส้สูตรชาววัง เพื่อเป็นการรักษาและสืบทอดองค์ความรู้
๒. สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดพิจิตร สนับสนุนและขึ้นทะเบียนขนมสอดไส้สูตรชาววัง เป็นสินค้าโอท็อปของจังหวัดพิจิตร
สถานภาพปัจจุบัน
๑.สถานะการคงอยู่ขององค์ความรู้
- มีการปฏิบัติอย่างแพร่หลาย
๒.สถานภาพปัจจุบันของการถ่ายทอดความรู้และปัจจัยคุกคาม
- ขนมสอดไส้สูตรชาววัง เป็นขนมไทยที่มีรสชาติอร่อย คัดสรรวัตถุดิบที่มีคุณภาพ เป็นขนมที่ทานง่ายเพียงคำเดียว โดยได้สูตรมาจากผู้ที่เคยทำขนมไทยขึ้นโต๊ะเสวยในสวนจิตรลดา ซึ่งขนมไทยจะใช้วัตถุดิบที่เป็นธรรมชาติจากพื้นที่ในหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านเกิดรายได้สร้างรายได้อีกทางหนึ่ง
ข้อเสนอแนะ
-
ข้อมูลอ้างอิงบุคคล
ชื่อ-นามสกุล นางวาสนา เทียมศร
ตำแหน่ง..ประธานกลุ่มขนมไทย ชุมชนคุณธรรมบ้านวังกระโดน หมู่ ๔
หน่วยงาน/องค์กร ประธานกลุ่มขนมไทย ชุมชนคุณธรรมบ้านวังกระโดน หมู่ ๔
เลขที่ ๓๑/๑ หมู่ที่ ๔ ตำบลโพธิ์ประทับช้าง อำเภอโพธิ์ประทับช้าง
จังหวัดพิจิตร รหัสไปรษณีย์ ๖๖๑๙๐ เบอร์โทรศัพท์ ๐๘๙-๑๒๘๓๙๗๖
ข้อมูลอ้างอิงอื่นๆ
-
ข้อมูลเจ้าของเรื่อง (ผู้สัมภาษณ์)
ชื่อ-นามสกุล นายจักรพงษ์ ตาลเลี้ยง
ตำแหน่ง นักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการ
หน่วยงาน/องค์กร สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร
ที่อยู่หน่วยงาน/องค์กร ศาลากลางจังหวัดพิจิตร (หลังเดิม) ถนนบุษบา
ตำบลในเมือง อำเภอเมือพิจิตร จังหวัดพิจิตร
เบอร์โทรสำนักงาน ๐ ๕๖๖๑ ๒๖๗๕
E-mail(ถ้ามี) jakrapong.tanliang@gmail.com