วัดบูรพ์ ตั้งอยู่ในเขตกำแพงเมืองนครราชสีมา ทางด้านทิศตะวันออกหรือทิศบูรพา จึงชื่อว่า วัดบูรพ์ เป็นวัดเก่าแก่ ที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย สร้างขึ้นด้วยความร่วมมือร่วมใจของพ่อค้า คหบดี และประชาชน ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยในขณะนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยายมราช (สังข์) เป็นผู้สร้างเมืองนครราชสีมา โดยมีนายช่างชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ช่วยออกแบบผังเมือง เมื่อสร้างผังเมืองเสร็จแล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้ขุนนางคฤหบดี และประชาชน ร่วมกันสร้างวัด ๖ แห่ง ได้แก่ วัดพระนารายณ์มหาราช (วัดกลาง) วัดบูรพ์ วัดอิสาน วัดพายัพ วัดสระแก้ว และวัดบึง สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด คือ โบราณสถาน และโบราณวัตถุ เอกสารโบราณ กุฏิน้อยหรือเรือนไทยโคราช เป็นสถาปัตยกรรมที่มีความสมบูรณ์ ในปัจจุบันได้ยกที่ให้สร้างโรงเรียนเทศบาล ๑ บูรพาวิทยากร และนอกจากนี้ยังเป็นโรงเรียนปริยัติธรรม แผนกธรรมบาลี แผนกสามัญศึกษา ซึ่งเปิดรับพระภิกษุ สามเณรเข้าศึกษาทุกปี วัดบูรพ์เปิดรับนักท่องเที่ยวมาไหว้พระขอพรพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ และมีตลาดไนท์ขายอาหารและสินค้าหลากหลายชนิดอยู่บริเวณด้านข้างของวัด วัดบูรพ์ สังกัด คณะสงฆ์มหานิกาย ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ปัจจุบันมี พระครู วรปัญญาคม (ทองพูล จกฺกวโร) เป็นเจ้าอาวาส สิ่งที่น่าสนใจ พระอุโบสถ ๓๐๐ ปี แต่เดิมเป็นพระอุโบสถที่มีส่วนฐานก่อเป็นแนวโค้งแบบหย่อนท้องช้าง ศิลปะอยุธยาตอนปลาย แต่ปัจจุบันได้ รับการบูรณะให้เป็นแบบที่เห็นในปัจจุบัน คือ มีประตูด้านทิศตะวันออก ๓ ช่อง ช่องกลางไว้สำหรับเจ้านายหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ผ่านเข้าพระอุโบสถ เพื่อประกอบพิธีทางศาสนา หน้าบัน อุโบสถทางทิศตะวันออกแกะสลักเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ส่วนทางทิศตะวันตก แกะสลักเป็นรูปครุฑยุดนาค ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธาน นามว่า “พระพุทธปฏิมาบูรพาพิทักษ์” เป็น ท่องเที่ยววัดเก่าแก่ของจงหวัด มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์27 พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชน ในเขตพื้นที่ให้ความเคารพศรัทธาอย่างมาก นอกจากนี้บริเวณภายนอกของพระอุโบสถทางทิศตะวันตก ยังมี “พระสัมพุทธเจดีย์ศรีบุรพสถิต” เจดีย์สีทอง ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และเป็นสัญลักษณ์ สำคัญของวัด เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามาสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต กุฏิน้อยหรือเรือนไทยโคราช แต่เดิมกุฏิแห่งนี้เป็นกุฏิแฝด สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง โดยมีโถงตรงกลาง มีชานหน้ากุฏิ ประดับด้วยลวดลาย ฉลุ ปัจจุบันได้ถูกรื้อถอนและซ่อมแซมเป็นบางส่วนโดยพื้น คาน เสา บันได ได้เปลี่ยนเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ส่วนชั้นบนยังคงสภาพเดิมไว้ และยังคงบ่อเก็บน้ำขนาดใหญ่ไว้หน้าตัว สมุดไทยวัดบูรพ์ เป็นโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุ ได้รับการขึ้นทะเบียนกรมศิลปากร มีคุณค่าทางศิลปะฝีมือช่าง ยุครัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๓๓๙ มีสภาพสมบูรณ์ จำนวน ๑๔ เล่ม และมี ๓ เล่ม ที่มีภาพเขียนประกอบเรื่องราวทศชาติชาดก ภาพจิตรกรรมบนแผ่นสังกะสี แต่เดิม ภาพจิตรกรรมบนแผ่นสังกะสีนั้นติดอยู่ภายใน ศาลาการเปรียญหลังเก่า ต่อมามีการรื้อศาลาการเปรียญ จึงได้ย้ายภาพจิตรกรรมบนแผ่นสังกะสีมายังศาลาการเปรียญหลังปัจจุบัน โดย ภาพจิตรกรรมบนแผ่นสังกะสีนั้นช่างเขียนได้ เขียนบนแผ่นสังกะสีหลายแผ่น ก่อนที่จะนำมา ประติดประต่อกันจนเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ พระมาลัย พระอดีตพระพุทธเจ้า สวรรค์ นรก พญากาเผือก และภาพวิถีชีวิตของชาวบ้าน