ชื่อ เกวียนโบราณ
ประวัติและที่ตั้ง เกวียนโบราณ ตั้งอยู่บ้านเลขที่ ๔๕ หมู่ที่ ๓ ตำบลหนองบก อำเภอเหล่าเสือโก้ก จังหวัดอุบลราชธานี มีอายุประมาณ ๕๐ ปีขึ้นไป เกวียน เป็นยานพาหนะชนิดหนึ่งที่มีล้อเลื่อน อายุเก่าแก่ที่สุดในโลกที่ยังมีใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน มี ๒ ล้อ เคลื่อนที่ไปโดยใช้วัวหรือควายเทียมลากไป โดยปกติใช้ ๒ ตัว ตามตำนานกล่าวว่า มนุษย์รู้จักใช้ล้อมาก่อน ยุคประวัติศาสตร์ ส่วนเกวียนที่เทียมสัตว์และรถศึกมีปรากฏแน่ชัดในสมัยกรีกและโรมัน ในสมัยสุโขทัย ซึ่งถือว่าเป็นยุคต้นของไทย มีวรรณคดี พงศาวดารหลายเรื่องที่กล่าวถึงเกวียน เช่นใน เรื่องพระร่วงส่งส่วยน้ำ คนไทยได้ใช้เกวียนบรรทุกส่วยไปบรรณาการขอมผู้มีอำนาจ ในสมัยหลัง ๆ สมุหเทศาภิบาลใช้ "เกวียนด่าน" เดินทางจากอุบลราชธานีมายังกรุงเทพฯ โดยนั่ง เกวียนคันหนึ่งมาแล้วเปลี่ยนนั่งคันใหม่ต่อกันเป็นทอด ๆในสมัยที่ยังไม่มีรถยนต์ใช้ในการไปตรวจราชการท้องที่ของข้าราชการ ได้ใช้ส่วนกลางของเกวียน เป็นที่นอน ใช้ส่วนหน้าเป็นโต๊ะเขียนหนังสือ ใช้ใต้ถุนเกวียนเป็นที่หุงหาอาหาร เกวียนแบ่งเป็น ๒ ชนิดคือ เกวียนเทียมวัวและเทียมควาย เกวียนเทียมวัวจะเตี้ยกว่า ทางภาคใต้จะนิยม ใช้ควายเทียมเกวียน ส่วนภาคเหนือนิยมใช้วัวเทียม