ประเพณีกวนข้าวทิพย์มธุปายาสเป็นประเพณีที่มีมานานหลายพันปี เป็นพิธีกรรมของพราหมณ์ ซึ่งปรากฏในเรื่องรามเกียรติ์ ว่า ท้าวทศรถ พระราชบิดาพระราม พระลักษณ์ เป็นผู้กวน พระฤาษีกไลยโกฏิ เป็นประธานในพิธี สันนิฐานว่ามีมาก่อนพุทธกาล ก่อนตรัสรู้ ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต่อมาพระราชพิธีของพระมหากษัตริย์ครั้งกรุงศรีอยุธยา ตลอดจนกรุงรัตนโกสินทร์ คำว่า “ข้าวทิพย์”และ “ข้าวมธุปายาส”พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงวิจารณ์ไว้ในพระราชพิธีว่า ข้าวสองอย่างต่างกัน เฉพาะที่นี้ประสงค์เป็นอย่างเดียวกัน หมายถึงข้าวทิพย์ซึ่งนางสุชาดา กวน ชาวพุทธศาสนิกชนจึงจัดกวนขึ้นในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 ทุกปี มา ส่วนผสมของข้าวทิพย์ ได้แก่ กะทิ นม เนย ถั่วเขียว ข้าวตอก งา น้ำผึ้ง น้ำตาล เผือก มันข้าวเม่า ผลไม้ชนิดต่าง ๆ ที่สามารถนำมากวนได้ ตั้งราชวัตรฉัตรเชง ศาลเพียงตา เครื่องบรวงสรวง สิ่งศักดิ์สิทธิ์และเทวดา เตรียมไม้มงคล ไม้ขนุน ไม้มะยม ไม้คูณ ได้มะลุม ต้นรัก ไม้สัก ไม้พยุง ไม้ราชพฤกษ์ ไม้ชัยพฤกษ์ ไม้ไผ่ศรีสุข สาวพรหมจารี สมมุติเป็นนางสุชาดา มีพราหมณ์ประจำพิธี มีเทวดาประจำพิธี เมื่อได้เวลา พระสงฆ์ 9 รูป เจริญพระพุทธมนต์ สวดพระปริตร ได้เวลา พราหมณ์บรวงสรวงเทพยาดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เจ้าหน้าที่จุดไฟ สาวพรหมจารี เริ่มกวนเป็นอันดับแรก และกวนไปจนเสร็จพิธี เชื่อว่าข้าวทิพย์เป็นของศักดิ์สิทธิ์ ใครได้กินจะเป็นมงคลปราศจากโรคภัยอันตรายทั้งปวง ได้บุญ ได้กุศลมาก การกวนต้องอาศัยคนมาก ฉะนั้น ทำให้เกิดความรัก ความสามัคคี รักใคร่ กลมเกลียวกัน รู้จักเสียสละ ในสังคม เพิ่มแรงศรัทธาในพระพุทธศาสนา เป็นการรักษาประวัติการกวนข้าวทิพย์ เพื่ออนุรักษ์ และสืบทอดมรดกอันล้ำค่าไว้ให้อนุชนรุ่นหลังต่อไป ปัจจุบันประเพณีการกวนข้าวทิพย์ จัดที่วัดพัฒนาธรรมมาราม โดยพระครูภัทรธรรมคุณ เป็นประจำทุกปี