ประเพณีโล้ชิงช้า
ประเพณีโล้ชิงช้า หรือชนเผ่าอาข่าเรียกว่า“หล่า เฉ่อ บี่ เออ”ถือเป็นวันปีใหม่ของชาวอาข่า ประเพณีโล้ชิงช้า เป็นประเพณีรื่นเริงที่สำคัญมากประเพณีหนึ่ง จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึง พระคุณแห่งเทพธิดา“อึ่มซาแยะ”ผู้ประทานความชุ่มชื้นอุดมสมบูรณ์ให้กับพืชพันธุ์ธัญญาหาร และเป็นการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งจัดขึ้นทุกปี โดยพิธีโล้ชิงช้าถือเป็นพิธีที่ให้ความสำคัญกับผู้หญิง ฉะนั้นผู้หญิงอาข่าทุกคน จะแต่งชุดประจำเผ่าประดับด้วยเครื่องทรงต่างๆ อย่างสวยงามเพื่อยกระดับชั้นวัยสาวตามขั้นตอน แสดงให้คนในชุมชนได้เห็นพร้อมทั้งขึ้นโล้ชิงช้า และร่วมร้องเพลงเพื่อขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์และบรรพบุรุษปกป้องและประทานความอุดมสมบูรณ์ให้แก่หมู่บ้าน
ประเพณีโล้ชิงช้า พิธีนี้จะทำขึ้น ๔ วัน วันแรกของเทศกาลชาวอาข่าเรียกว่า วันควาย ถือเป็นวันของการเซ่นไหว้บรรพบุรุษในตอนกลางคืน วันที่ ๒ ตรงกับ วันเสือ จะเป็นวันสร้างชิงช้าใหญ่ของชุมชน โดยทุกครัวเรือนจะมารวมกันที่บ้านของผู้นำ และสร้างชิงช้าเพื่อใช้ในพิธี วันที่ ๓ ตรงกับ วันลา ถือว่าเป็นวันที่ยิ่งใหญ่ มีพิธีเซ่นไหว้ตั้งแต่เช้ามืด ตกเย็นมีการเลี้ยงฉลอง มีการเต้นรำอย่างสนุกสนานในตอนกลางคืน วันสุดท้ายของเทศกาลตรงกับ วันกระต่าย ชาวบ้านจะมาร่วมโล้ชิงช้าในช่วงเย็นเลิกงานในวันรุ่งขึ้นหลังจากเทศกาลผู้ใดจะทำการโล้ชิงช้าหรือจับต้องเสาชิงช้าไม่ได้เป็นอันขาดจนกว่าจะถึงวันโล้ชิงช้าในปีต่อไป