ประวัติตำบลนาบอน
เดิมพื้นที่บริเวณที่ตั้งของตำบลนาบอน มีสภาพเป็นป่าที่มีต้นไม้น้อยใหญ่ขึ้นหนาทึบอยู่มากมาย มีสัตว์ป่านานาชนิดอาศัยอยู่ มีลำน้ำที่มีน้ำตลอดปี จนกระทั่งประมาณปี พ.ศ. ๒๔๖๓ เกิดโรคระบาดขึ้นที่บ้านสูงเนิน อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ทำให้มีราษฎรอพยพเพื่อหนีโรคระบาด ส่วนหนึ่งโดยการนำของ พ่อใบ พ่อกอง พ่อเข่ง โอภากาส ร่วมกับพ่อแข่น ชะสันติ ซึ่งต่างก็เป็นญาติพี่น้องกัน พากันไล่ต้อนวัว ควาย สัตว์เลี้ยงทั้งหลายหนีโรคระบาดออกจากบ้านสูงเนินมุ่งหน้าแสวงหาผืนดินที่อุดมสมบูรณ์เพื่อตั้งรกรากทำมาหากิน จนกระทั่งพบผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์แห่งนี้ จึงได้พากันปักฐาน เพื่อตั้งรกรากทำมาหากิน นอกจากนั้นยังได้ชักชวนพี่น้องของตนจากบ้านสูงเนิน บ้านคำเม็ก บ้านนาทัน อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ มาจับจองที่ดินและที่อยู่อาศัย แยกเป็นกลุ่มๆกลุ่มละประมาณ ๔๐ ครัวเรือน ซึ่งเรียกกันว่า กลุ่มบ้านสูงเนินน บ้านนาทันและกลุ่มบ้านคำเม็กอยู่ในความรับผิดชอบของตำบลโพน อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
จากการสัมภาษณ์นายสมภาร โอภากาส บอกว่าคนเฒ่าคนแก่ได้เล่าต่อ ๆ กันมาว่า บริเวณแห่งนี้เคยเป็นบ้านข่า บ้านขอม แต่ต่อมากลายเป็นเมืองร้าง และเคยมีชาวบ้านได้ขุดพบภาชนะเครื่องใช้ ประเภท ถ้วย ไห ชาม ตามโคกและหัวไร่ปลายนาอยู่บ่อย ๆ บางครั้งภาชนะดังกล่าวก็ยังมีสภาพสมบูรณ์ บางครั้งก็พบที่ชำรุดบ้างเล็กน้อย เมื่อประมาณ ๑๓ ปี ที่ผ่านมา ( ประมาณ ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ) พ่อใหญ่ช่วย ใจเมตตา ราษฎรบ้านคำสมบูรณ์ได้ขุดพบไหมังกรที่มีขนาดใหญ่และสวยงาม ภายในบรรจุโครงกระดูกซึ่งเข้าใจว่าเป็นโครงกระดูกของคนโบราณ จึงทำให้หลายคนมีความเชื่อว่าบริเวณชุมชนแห่งนี้น่าจะเคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวข่า ชาวขอม ก่อนจะกลายเป็นเมืองร้างโดยไม่ทราบสาเหตุ
ตั้งแต่มีการตั้งรกรากอยู่อาศัยของผู้บุกเบิกในยุคแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๓ นาบอนได้อยู่ในความ รับผิดชอบของตำบลโพน อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้มีการจัดตั้งขึ้นเป็นหมู่บ้านนาบอน หมู่ที่ ๑๐ ตำบลโพน อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยใช้ชื่อห้วยนาบอนเป็นชื่อ หมู่บ้าน และได้มีนายบาล อรรถประจง เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ได้มีการแยกการ ปกครอง ออกจากตำบลโพน เป็นตำบลนาบอน มีหมู่บ้านในตำบลนาบอนจำนวน ๙ หมู่บ้าน โดยมี นายเกิ่ง อรรถประจง เป็นกำนันคนแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘ กำนันเกิ่ง อรรถประจง เกษียณอายุ จึงได้เลือกนายโสภณ บุตรวัง เป็นกำนันคนที ๒ และในเดือนมีนาคม ๒๕๔๖ ได้มีการเลือกกำนันเพื่อดำรงตำแหน่งแทนนายโสภณ บุตรวัง ซึ่งเกษียณอายุ และนายประสพ ในอรชร ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งกำนันเป็นคนที่ ๓ จนถึงปัจจุบัน
ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ได้มีการแยกหมู่บ้านออกจากบ้านนาบอน หมู่ที่ ๒ เป็นบ้านนาอุดม หมู่ที่ ๑๐ ปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ได้มีการแยกหมู่บ้านจากบ้านนาบอน หมู่ที่ ๑ เป็นบ้านนาเจริญ หมู่ที่ ๑๑ประชากรส่วนใหญ่ในตำบลนาบอนเป็นชาวไทยลาว คิดเป็นร้อยละ ๙๕ ของจำนวนประชากรทั้งหมด ส่วนอีกร้อยละ ๕ ของจำนวนประชากรทั้งหมดเป็นชนเผ่าญ้อ ภูไท โซ่ กะเลิง ซึ่งได้กระจาย อาศัยอยู่ตามหมู่บ้านต่าง ๆ
ถึงแม้ตำบลนาบอนจะมีประชากรอาศัยอยู่หลายชนเผ่า แต่ก็มีวิถีชีวิตขนบธรรมเนียมประเพณีที่คล้ายคลึงใกล้เคียงกันซึ่งถึงแม้บางชนเผ่าจะมีความเชื่อที่เป็นเอกลักษณ์ของตนอยู่บ้างก็สามารถอยู่รวมกันได้และไม่เคยปรากฏว่ามีการสร้างปัญหาอุปสรรคหรือเกิดความขัดแย้งใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องชาติพันธุ์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ในปัจจุบันการปกครองของชาวบ้านในตำบลนาบอนมีทั้งผู้นำแบบเป็นทางการและผู้นำตามธรรมชาติ ผู้นำที่เป็นทางการ ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล และผู้ที่ทางราชการแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ ส่วนผู้นำตามธรรมชาติได้แก่ พระสงฆ์ ผู้เฒ่าผู้แก่ ครู อาจารย์ ตลอดจนผู้นำกลุ่มกิจกรรมที่ชาวบ้านเห็นชอบยินยอมให้เป็นผู้นำและให้การยอมรับเคารพเชื่อฟังมาโดยตลอด
ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตำบลนาบอน
ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ มีผู้ก่อการร้ายมาลอบยิง นายบุญมา สุรันนา เสียชีวิตที่บ้าน
ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ มีผู้ลักลอบยิงนายเส็ง ชะสันติ ที่ทุ่งนา
ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ได้เกิดความวุ่นวายในหมู่บ้าน มีคนตาย ๑๖ คน ผู้นำหมู่บ้านได้ไป
นิมนต์พระจากวัดป่าบ้านสูงเนินมาทำพิธีชำระบ้าน เพื่อให้เกิดความสงบ
ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ มีผู้ก่อการร้ายก่อความวุ่นวายขึ้นในหมู่บ้าน ได้เข้ามาปลุกระด มวลชนให้แตกแยก โดยมีนายบุญจร นังตะลา ได้หลงผิดเข้าไปอยู่ในป่าเป็นคอมมิวนิสต์
ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ตชด.ได้มาตั้งฐานอยู่ที่วัดโพธิ์ชัยศรีสว่างนาบอน ได้มาชักชวนราษฎรในหมู่บ้านที่หลงผิด ทำตัวเป็นคอมมิวนิสต์ ให้เข้ามามอบตัวกับทางราชการ และทางการได้จัดชุดอาสาสมัครรักษาดินแดน มาตั้งฐานอยู่ที่โรงเรียนบ้านนาบอน โดยตั้งชื่อว่า “แค้มป์ อ.ส.”
ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ทาง ผกค. ได้มาโจมตีชุด อส. ที่โรงเรียนบ้านนาบอน
ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ได้มีหน่วยทหารกองปืน ได้นำปืนใหญ่มาตั้งจุดที่โรงเรียนบ้านนาบอนได้ยิงปืนใหญ่ข้ามบ้านนาบอนไปตกที่ภูเขียว ภูก่อ ภูมี่
ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ผกค.ได้เข้ามายิงนายคำฝน จันทะโสตถิ์ ผู้ใหญ่บ้านตายที่บ้านสูงเนินขณะไปเที่ยวงาน
ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ได้มีการแต่งตั้งนายลี จันทะโสตถิ์ เป็นผู้ใหญ่บ้านขณะที่เจ้าหน้าที่จะกลับบ้านออกไปทางบ้านใหม่ได้มีผู้ก่อการรายดักยิงอยู่ระหว่างบ้านนาบอนกับบ้านสะพานหินเจ้าหน้าที่เสียชีวิตสองนาย
ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ มี ผกค. ได้ดักชุ่มยิงครูเสียชีวิตสามราย
ปัจจุบันตำบลนาบอนได้รับการพัฒนาไปอย่างมากด้วยความร่วมมือของประชาชนชาวตำบลนาบอนและทุกภาคส่วนที่เข้าร่วมสนับสนุนและผลักดันทำให้ตำบลนาบอนประสบผลสำเร็จในการดำเนินงานทุกด้านทั้งตัวบุคลากรและพื้นที่ อาทิ
- ได้รับรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เชิดชูเกียรติผู้นำเครือข่ายพัฒนาชุมชนต้นแบบ ปี ๒๕๕๐
- ผู้ใหญ่บ้าน บ้านสะพานหิน หมู่ ๓ ได้รับรางวัลผู้ใหญ่บ้านแหนบทองคำ ปี ๒๕๕๓
- รางวัลหมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดโรคความดัน โรคเบาหวาน ฯลฯ ระดับเขต ปี ๒๕๕๓
- รางวัลรองชนะเลิศเชิดชูเกียรติผู้นำเครือข่ายพัฒนาชุมชนต้นแบบ ปี ๒๕๕๕
- รางวัลหมู่บ้านปลอดเหล้าในงานศะ ของจังหวัดกาฬสินธุ์ ปี ๒๕๕๖
- รางวัลตำบลต้นแบบคนดี สุขภาพ รายได้ดี ของจังหวัดกาฬสินธุ์ ปี ๒๕๕๖
- รางวัลผู้ใหญ่บ้านแหนบทองคำ บ้านนาบอน ปี ๒๕๕๖ ฯลฯ
ผลจากการที่ชาวตำบลนาบอนให้ความร่วมมือและช่วยเหลือกันเพื่อจะทำให้ชาวตำบลนาบอนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยการรู้จักพึ่งต้นเอง ทำให้มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เข้ามาเยี่ยมเยียนเพื่อศึกษาดูงานนำไปเป็นตัวอย่างในการพัฒนาพื้นที่ของตนเอง จนทำให้ปัจจุบันชาวตำบลนาบอน มีสภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้น มีความรักและสามัคคีในการทำงานร่วมกัน