ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 14° 38' 25.174"
14.6403261
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 15' 1.8846"
100.2505235
เลขที่ : 58653
นายวีระ มีเหมือน
เสนอโดย admin group วันที่ 12 พฤษภาคม 2554
อนุมัติโดย อ่างทอง วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565
จังหวัด : อ่างทอง
0 1029
รายละเอียด

ครูภูมิปัญญาไทย ด้านศิลปกรรม (การทำหนังใหญ่) ครูวีระ มีเหมือน จากอำเภอสามโก้ จังหวัดอ่างทอง เป็นผู้นำภูมิปัญญาด้านศิลปกรรมอย่างหลากหลายสร้างสรรค์ผลงานด้านศิลปกรรม เพื่อมอบเป็นสมบัติของแผ่นดิน ถ่ายทอดความรู้ ความคิด และประสบการณ์ด้านศิลปกรรมเป็นวิทยาทานแก่ผู้สนใจมาอย่างยาวนาน การศึกษา ชีวิตและการทำงาน ครูวีระ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ครูเจี๊ยบ เกิดเมื่อวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๗ ภูมิลำเนาเกิดที่จังหวัดนนทบุรีในครอบครัวชาวสวน ต่อมาได้ย้ายภูมิลำเนามาอยู่จังหวัดอ่างทอง บ้านเลขที่ ๑๑๙ หมู่ที่ ๔ ตำบลมงคลธรรมนิมิต อำเภอสามโก้ จังหวัดอ่างทอง เรียนหนังสือระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนศรีบุญยานนท์ จังหวัดนนทบุรี ในระหว่างเรียนได้เข้าการฝึกอบรมการแสดงโขนกับครูหยัด เพิ่มสุวรรณ ครูประพิศ พรหมศร ครูประภา พรหมศร เป็นเวลา ๓ เดือน จากการได้เรียนรู้การแสดงโขน จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ครูวีระ มีโอกาสได้แสดงความสามารถได้อย่างเต็มที่ และมีความมุ่งมั่นที่จะฝึกฝนเรื่องการแสดงโขนเพื่อยึดเป็นอาชีพ หลังจากเรียนจบได้สอบเข้ารับราชการในตำแหน่งช่างจัตวาของกรมไปรษณีย์โทรเลข ในเวลาว่างได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องโขนชักรอก การทำหัวโขน การปักเครื่องโขน จากครูที่มีชื่อเสียงของไทย และได้ฝากตัวเป็นศิษย์การทำหนังใหญ่กับครู ม.ร.ว.จรูญสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์ จนภายหลังได้รับมอบหมายวิชาการไหว้ครูหนังใหญ่ โขน ละคร และเป็นตัวแทนของม.ร.ว.จรูญสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์ จนถึงปัจจุบัน การเรียนรู้ของครูวีระ ใช้วิธีการฝึกฝนและการฝึกปฏิบัติจริงจนเกิดความคิดถึงสร้างสรรค์ใหม่ ๆ เสมอในการปฏิบัติงานของตน องค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ที่ต่อยอดฐานความรู้เดิมที่มีอยู่ทำให้ครูวีระเกิดองค์ความรู้ในการปฏิบัติงานที่มีความเชี่ยวชาญในขั้นแนะนำ และถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้อื่นได้เป็นอย่างดี ได้แก่ การแสดงโขน การทำหัวโขน การพากย์โขน การแสดงหนังใหญ่ การแกะสลักหนังใหญ่ การถ่ายทอดความรู้ ปัจจุบันครูวีระ ได้รับเชิญเป็นครูภูมิปัญญาถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้แก่สถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษา มัธยมศึกษา ประถมศึกษา และแก่ผู้เรียนตามอัธยาศัยจากชุมชน ต่าง ๆ และหน่วยงานต่าง ๆ ได้บันทึก วีดิทัศน์ศิลปะการทำหนังใหญ่ไปเผยแพร่ยังต่างประเทศหลายครั้ง เกียรติคุณที่ได้รับ ครูวีระ มีเหมือน เป็นบุคคลผู้ทรงภูมิปัญญาด้านศิลปกรรม (การทำหนังใหญ่) เป็นผู้สร้างสรรค์และสืบสานภูมิปัญญาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่ยอมรับของสังคมและชุมชน จึงได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ให้เป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๒ ปี พ.ศ.๒๕๔๕ ด้านศิลปกรรม(การทำหนังใหญ่) เพื่อทำหน้าที่ถ่ายทอดภูมิปัญญาในการจัดการศึกษา ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย

ขั้นตอนการทำหนังใหญ่

เนื่องจากการทำหนังใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้แสงผ่านตัวหนังได้ ซึ่งกรรมวิธีก็ต้องผ่านการฟอกหนัง ไม่แตกต่างจากการทำหนังตะลุงเท่าไรนัก

การเลือกหนัง - หนังที่จะมาทำเป็นหนังใหญ่ส่วนใหญ่ใช้หนังวัวหรือหนังควายเพราะเป็นหนังผืนใหญ่ แต่คนทำหนังใหญ่จะนิยมหนังควายมากกว่า เพราะหนังควายจะสวยกว่าหนังวัว สีสวยมีความหนาเสมอกันทั้งผืน หนังวัวจะหนาไม่เท่ากันและจะเลือกซื้อหนังความตัวเมีย เพราะหนังบางดีส่วนความตัวผู้หนังจะหนา นิยมนำไปทำกลองมากกว่า สถานที่ที่มักนะยมไปซื้อที่ อ.แม่จัน จังหวัดเชียงราย

การฟอกหนัง คือ นำหนังที่ซื้อมาแล้วเจียนให้ได้รูปใกล้เคียง แช่นำ้ยาในโอ่ง แช่ประมาณ ๑ สัปดาห์ จากนั้นนำขึ้นมาขูดขนและหนังกำพร้าออก แล้วเอามาขึ้นสดึงจะได้หนังแก้ว สีออกเหลืองแสงผ่านได้ เอามีดเจียนหนังส่วนขาออกเพื่อให้ได้หนังตามรูปทรงที่ต้องการ ครูวีระจะผสมน้ำยาฟอกหนังเอง คือ ใช้ปูนขาวผสมกับเกลือและสารส้มอัตราส่วนที่ใช้จะวัดจากการชิมรสแตะที่ลิ้นแล้วรู้สึกเฝื่อน ๆ เปรียวเค็มซึ่งเป็นไปตามความชำนาญ

การเขียนลาย ครูวีระจะใช้ลายที่ได้มาจากครูอาจารย์ ไม่ได้มีการเขียนขึ้นใหม่ โดยการนำกระดาษลายที่ได้มาจากการถ่านยเอกสารเป็นแบบทาบติดบนหนังที่ต้องการตอกทั้งแผ่น จากนั้นจึงเริ่มตอกลายลงไป

ตอกลาย คือ การตอกหนังตามลายที่ทาบกระดาษไว้ ตอกเฉพาะจุดที่ต้องการให้ทุลุด้วยสิ่ว ๒๕ ตัว ต๊ดตู่ ๑๗ ตัว ซึ่งมีหลายขนาดด้วยกัน

การลงสี ตามลวดลายที่ตอกไว้ เมื่อก่อนใช้ชินสีกับน้ำมะนาว (ชินสี คือ สนิมของทองแดง) แต่หายากและสีซีดจึงเปลี่ยนมาเป็นหมึกเติมปากกาหมึกซึม (PILOT Super color ink) เพราะสีจะทนนาน

คาบตับ คือการนำไม้มาติดกับตัวหนังสือเพื่อใช้สำหรับเชิด จะใช้ไม้ลวกหรือไม้ไผ่สีสุก แล้วนำเข็มใหญ่ร้อยกับด้ายเส้นใหญ่หลาย ๆ เส้นแล้วค่อย ๆ ใช้เข็มร้อยด้ายผูกเป็นระยะ เพื่อให้ตับติดกับตัวหนัง

เข้าพิธีกรรม สมัยก่อนจะมีพิธีเบิกเนตรสำหรับตัวหนังทุกตัวที่จะนำมาใช้แสดง แต่ปัจจุบันคนนิยมซื้อไปเก็บหนือโชว์จึงไม่ได้ทำพิธีเบิกเนตร

คำสำคัญ
หนังใหญ่
สถานที่ตั้ง
เลขที่ 119 หมู่ที่/หมู่บ้าน 4
ตำบล มงคลธรรมนิมิต อำเภอ สามโก้ จังหวัด อ่างทอง
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่