วัดช้างเผือกตั้งอยู่บ้านคลองสวนหลวง หมู่ที่ ๕ ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
วัดช้างเผือก เป็นวัดโบราณไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สร้าง มีอายุไม่น้อยกว่า ๓๐๐ ปี
เริ่มประกาศเป็นวัด เมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๕ เรียกชื่อว่า วัดช้างเผือกมาแต่เดิม ได้รับวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๓๑ บริเวณตำบลบางช้าง แต่เดิมเป็นป่าทึบเป็นที่อาศัยของโขลงช้างจำนวนมาก จึงได้ชื่อว่า ตำบลบางช้าง เล่าสืบทอดมาว่าบริเวณที่ตั้งวัดนี้เป็นที่หลบซ่อนอาศัยของช้างเผือก และช้างธรรมดาในสมัยโบราณที่ทำสงครามต้องอาศัยช้างด้วย ยังมีหลักฐานปรากฏอยู่คือ บริเวณที่ตั้งอุโบสถเดิม (ทรงไทยไม้สัก) มีเสาตะลุงช้างสำหรับผูกช้าง ปัจจุบันดินได้ทับถมจมอยู่แถวหน้าอุโบสถ คลองช้างที่เรียกชื่อมาจนทุกวันนี้ ก็คือทางเดินของข้างที่ลงมาอาบน้ำละดื่มน้ำในลำแม่น้ำ มีความยาวประมาณ ๖๐๐ เมตร (๑๕ เส้น) ตั้งแต่หน้าอุโบสถเก่า ปัจจุบันได้ถูกถมไปหมดแล้ว เป็นบ้านเรือน ถนนปลายคลองช้างจรดคลองบางพรหม
วัดช้างเผือกเจริญรุ่งเรืองมากสมัยพระอธิการคุณ เป็นเจ้าอาวาส ท่านเป็นพระที่มีคุณสมบัติพิเศษหลายประการ การประพฤติปฏิบัติชอบ เป็นอาจารย์ที่เชี่ยวชาญในทางวิปัสสนากัมมัฏฐาน อาจารย์ธุดงค์ และราชมูล รวมท้งการบริวาสกรรม เป็นที่เชื่อถือ เคารพเลื่อมใสศรัทธาของประชาชนมาก นอกจากนั้นท่านยังเป็นที่พึ่งของประชาชนในด้านการรักษาพยาบาล เล่ากันว่าท่านรักษาเด็กเจ็บไข้ด้วยการเสกด้านผูกข้อมือเด็ก และเสกข้าวปั้นให้หญิงมีครรภ์รับประทาน เพื่อคลอดง่ายเป็นที่เสื่อมใสและนิยม บรรดาสานุศิษย์ และผู้เคารพนับถือได้ปั้นรูปของท่านไว้เป็นอนุสรณ์เมื่อท่านเข้าสู่วัยชรา และเรียกท่านว่า “เจ้าอธิการรุณ” ไม่ทราบว่าท่านสืบเชื้อสายมาจากราชินีกูลบางช้างหรือไม่ เพราะท่านถือกำเนิดที่ตำบลบางช้างนี้ หรือเรียกชื่อของท่านด้วยความเคารพยกย่อง
วัดช้างเผือกดำรงอยู่ได้มาจนทุกวันนี้ เพราะความเลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชน
ในท้องถิ่นช่วยกันทำนุบำรุง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตระกูลของกำนันตำบลบางช้าง คือ
ขุนศรีคชนิยมได้อุปถัมภ์ตลอดมา
สิ่งสำคัญของวัดที่ควรชม และนมัสการ ได้แก่
๑.พระประธานในอุโบสถของเก่าเป็นพระปูนปั้นปางมารวิชัย และ
พระพุทธรูปหล่อปางอุ้มบาตรหุ้มด้วยทองขาว (อุโบสถหลังเก่ายังอนุรักษ์ไว้)
๒. วัดนี้มีบริการอบสมุนไพรฟรี ให้แก่ประชาชนทั่วไป มีผู้เดินทางไปอบสมุนไพรกันมาก
ผู้สนใจสอบถามได้จากทางวัด
การเดินทางการเดินทางไปวัดช้างเผือกโบราณใช้ทางน้ำ เพราะด้านใต้ของวัดมีคลองสวนหลวง ปัจจุบันเดินทางโดยรถยนต์สะดวกมาก คลองสวนหลวงบางตอนใช้ไม่ได้แล้วเพราะตื้นเขิน ถนนสายแม่กลอง –ดำเนินสะดวก หรือทางหลวง ๓๒๕ ผ่านสะพานข้ามคลองจุฬา ซ้ายมือมีป้ายบอกทางเข้าวัดอลงกรณ์ ผ่านบ้านเบญจรงค์ วัดอลงกรณ์ (เลียงซ้าย ๒ครั้ง) ถึงวัดช้างเผือก ห่างจากวัดอลงกรณ์ประมาณ ๑ กิโลเมตร