วัดจุฬามณี
ตั้งอยู่ที่คลองวัดจุฬามณี หมู่ที่ ๙ ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
วัดจุฬามณีเป็นวัดที่เก่าแก่ และมีความสำคัญมากวัดหนึ่งในประวัติศาสตร์ของชาติไทย เพราะเป็นแหล่ง กำเนิดของสตรีคนสำคัญถึง ๔ คน ณ บริเวณหลังวัดนี้ และยังเป็นที่อพยพหลบภัยของญาติพี่น้อง และมิตรสหายของหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก)
วัดจุฬามณี เดิมเรียกกันว่า “วัดแม่ย่าเจ้าทิพย์”เรียกชื่อนี้มาแต่สมัยพระอธิการเนียม เป็นเจ้าอาวาส เพราะวัดนี้สมัยหนึ่งชำรุดทรุดโทรมมาก ได้รับอุปการะจากท่านเจ้าทิพย์ (ไม่ทราบว่าสืบสายมาจากไหน) ได้ให้ความอุปถัมภ์ปฏิสังขรณ์เสนาสนะของวัดให้เจริญรุ่งเรืองขึ้น จึงเรียกชื่อวัดตามนามผู้อุปถัมภ์
ผู้สร้างวัด คือ ท้าวแก้วผลึก (น้อย) เป็นผู้หญิงนายตลาดบางช้าง สมัยแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ.๒๑๗๓-๒๑๙๘) ท้าวแก้วผลึกอยู่ในตระกุลเศรษฐีบางช้าง มีหลานชายชื่อทอง ได้แต่งงานกับญาติในตระกูลเศรษฐีเช่นกัน ชื่อสั้น เศรษฐีทองมีบุตรธิดากับท่านสั้นถึง ๑๐ คน ซึ่งได้ถือกำเนิด ณ บริเวณหลังวัดจุฬามณีแห่งนี้ ที่ควรจะกล่าวถึง คือ
คุณนาก ธิดา คนที่ ๔ คือ สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ พระราชินีในรัชการที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก คุณนวล ธิดาคนที่ ๙ แต่งงานกับนายบุนนาค สหายของหลวงยกกระบัตร ได้อพยพลี้ภัยมาอยู่ในสวนลึกหลังวัดจุฬามณีด้วย ก่อนกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ดำรงตำแหน่งนายฉลองไนยนาถ มหาดเล็กวังหน้า เป็นต้นตระกูลบุนนาค คุณแก้ว ธิดาคนที่ ๑๐ แต่งงานกับพระแม่กลองบุรี (ศร) เป็นต้นตระกูล ณ บางช้าง คุณบุญรอด ธิดาของคุณแก้ว พี่สาวของหลวงยกระบัตร ซึ่งพาครอบครัวอพยพหลบภัยมาอยู่ด้วย ขณะตั้งครรภ์อยู่ กาลต่อมาคุณบุญรอดได้เป็นพระบรมราชินีในรัชการที่ ๒ คือสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ และมารดาคือ คุณแก้ว ดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ กรมพระศรีสุดารักษ์ ในรัชการที่ ๑
ต่อมานิวาสสถานหลังวัดจุฬามณีแห่งนี้ถูกไฟไหม้ ครอบครัวจึงได้ย้ายไปอยู่ที่แห่งใหม่ในสวนเดิม
ของท่านสั้นมารดา และ ร.๒ หรือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงพระราชสมภพ ณ สถานที่แห่งใหม่นี้ ปัจจุบันก็คือ สถานที่ตั้งวัดอัมพวันเจติยาราม
สิ่งสำคัญของวัด ที่ควรชม และนมัสการได้แก่
อุโบสถหลังใหม่ เป็นอุโบสถจัตุรมุขหินอ่อน หลังคาซ้อน ๓ ชั้น พื้นปูด้วยหินหยกเขียวจาก
เมืองการาจี ปากีสถาน สร้างแทนอุโบสถหลังเดิม ซึ่งสร้างด้วยไม้สัก และไม้เนื้อแข็ง ได้บูรณะซ่อมแซมกันตลอดมาด้วยเวลาอันยาวนาน จนกระทั่ง พ.ศ.๒๕๑๑ พระครูโกวิทสมุทรคุณ (หลวงพ่อเนื่อง โกวิโท) จึงได้สร้างอุโบสถหลังใหม่แทน ใช้เวลายาวนานถึง พ.ศ.๒๕๓๐ ท่านได้มรณภาพ อุโบสถเกือบจะสำเร็จเรียบร้อย และศิษย์ของท่าน คือ พระครูโสภิตวิริยาภรณ์ (อิฏฐ ภทฺทจาโร) ได้ดำเนินการต่อมาจนเรียบร้อย
อุโบสถหลังนิ้ นอกจากเป็นอุโบสถที่มีรูปแบบงดงามแล้ว ภายในอุดบสถยังวิจิตรงดงามมากประดิษฐานพระประธานบนฐานสูง ประดับประดาด้วยโคมไฟ บานหน้าต่างด้านนอกลงรักฝังมุก เป็นภาพตราพระราชลัญจกรตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ จนถึงปัจจุบัน พระนามาภิไธยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนภาพเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นต่าง ๆ และภาพจิตรกรรมฝาผนัง แสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ และนิทานชาดกที่ประณีตงดงาม ฯลฯ ควรแก่การเข้าชมเป็นอย่างยิ่ง ภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือของจิตรกรหญิงนิตยา ศักดิ์เจริญ ใช้เวลาในการวาดนานถึง ๖ ปี
๒. นมัสการหลวงพ่อเนื่อง เกจิอาจารย์ชื่อดัง ร่างของท่านยังบรจุไว้ในโลงแก้วบนศาลาการเปรียญวัดจุฬามณี หลวงพ่อเนื่องเป็นศิษย์หลวงพ่อแช่มเกจิอาจารย์ผู้มีชื่อเสียง มีความเชี่ยวชาญทางสมถกรรมฐานมีคนนับถือมาก ท่านเป็นศิษย์ของหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม ประชาชนได้นิมนต์ท่านมาเป็นเจ้าอาวาส เมื่อเห็นว่าวัดจุฬามณีกำลังเสื่อมโทรม ส่วนหลวงพ่อเนื่องก็มีความศักดิ์สิทธิ์ และสร้างความร่ำรวยให้แก่สาธุชนทั่วไปจนเป็นที่เลื่องลือ แม้แต่ผู้เขียนเองก็เคยได้รับความเมตตาจากท่าน
การเดินทาง วัดจุฬามณี ตั้งอยู่ริมคลองอัมพวา เดินทางทางน้ำ ส่วนทางยกสะดวกมาก ห่างจากที่ตั้งอำเภออัมพวาประมาณ ๒ กิโลเมตร หากเดินทางจากแม่กลอง เข้าถนนแม่กลอง –บางแพ จากแยกไฟแดงแรกไปไม่ไกลนัก แลเห็นป้ายวัดจุฬามณีอยู่ปากทางเข้าด้านขวามือ