การทำโคมล้านนา ประเภทโคมเงี้ยว
โคมเงี้ยว เป็นโคมที่มีรูปทรงที่ได้มาจากชาวไทใหญ่ จึงเรียกว่า โคมเงี้ยว ทำค่อนข้างยากกว่าโคม ชนิดอื่นๆ เนื่องจากตัวโครงโคมมีลักษณะหักมุมละเอียดซับซ้อน เป็นเหลี่ยมคล้ายเพชรที่เจียรนัย จึงมีชื่อเรียก อีกอย่างหนึ่งว่า โคมเพชร หรือ โคมเจียรนัย โคมชนิดนี้แม้ไม่ได้ใส่หางประดับก็มีความงดงาม และเมื่อจุด ผางประทีปหรือใส่หลอดไฟไว้ข้างใน แสงสว่างที่ออกตามเหลี่ยมมุมจะมีความงดงามมาก
วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบด้วย
๑. ผ้าโทเรคละสีทำหางโคม ขนาด ๑๐ x๔๐ เซนติเมตร จำนวน ๔ ชิ้น
๒. ไม้ไผ่จักสำเร็จสำหรับทำโคม
๓. ผ้าพิมพ์ลายไทยคละสี
๔. เส้นทอง
๕. ดอกปั๊ม ขนาดกลาง
๖. ผ้าลูกไม้
๗. ตัวหนีบเหล็ก
๘. กาวร้อนงานไม้
๙. กาวลาเท็คและกาวยางบอนเท็ค
๑๐. กรรไกร
๑๑. ไม้บรรทัด
๑๒. จานพลาสติกหรือแก้วน้ำพลาสติก (ใส่กาวที่ผสมแล้ว)
๑๓. ดินสอหรือปากกา
๑๔. เชือกทำแพหางโคม ขนาด ๑๐ เซนติเมตร จำนวน ๙ ชุด
๑๕. กระดาษแข็งติดกระดาษทอง เจาะรู จำนวน ๔ ชิ้น
ขั้นตอนและวิธีการทำโคมผัด
การทำโครงโคมเงี้ยว
๑. นำไม้แบบเบอร์ ๑๔ (ขนาดความยาว ๑๔ เซนติเมตร) มาวัดไม้ไผ่จักสำเร็จ จำนวน ๔ ครั้ง นำมาหักมุมให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส และวัดขนาด ๒ เซนติเมตรจำนวน ๑ ครั้ง หักมุมแล้วทากาวร้อนติดกับไม้ไผ่ทำให้ครบจำนวน 10 ชิ้น
๒. นำโครงไม้ไผ่ขนาด ๑๔ เซนติเมตร จำนวน ๔ ชิ้น มาประกบกันโดยใช้ตัวหนีบ แล้วทากาวร้อนให้ติดกัน
๓. นำโครงไม้ไผ่ขนาด ๑๔ เซนติเมตร จำนวน ๖ ชิ้น วางประกบด้านบนและด้านล่าง และด้านข้างทั้ง ๔ ด้านโดยใช้ตัวหนีบ ทากาวร้อนให้ติดกันแล้วมัดเชือกตามจุดตัดให้แน่น
๔. นำไม้แบบเบอร์ ๑๐ (ขนาดความยาว ๑๐ เซนติเมตร) มาวัดไม้ไผ่จักสำเร็จ จำนวน ๔ ครั้ง นำมาหักมุมให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส และวัดขนาด ๒ เซนติเมตรจำนวน ๑ ครั้ง หักมุมแล้วทากาวร้อนติดกับไม้ไผ่
๕. นำโครงไม้ไผ่ขนาด ๑๐ เซนติเมตร จำนวน ๖ ชิ้น วางประกบมุมด้านบนและด้านล่าง และมุมด้านข้างทั้ง ๔ ด้านโดยใช้ตัวหนีบทากาวร้อนให้ติดกันแล้วมัดเชือกตามจุดตัดให้แน่น
๖. เก็บปลายเชือกที่มัดทุกจุดให้เรียบร้อย โดยใช้กาวผสมทาลงบนเส้นด้ายแล้วนำไปพันโดยรอบจุดตัด ให้แน่น ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้ด้ายหลุดและเพิ่มความแข็งแรงให้กับโครงโคมมากขึ้น
๗. การทำฐานโคม นำไม้แบบเบอร์ ๑๐ (ขนาดความยาว ๑๐ เซนติเมตร) มาวัดไม้ไผ่จักสำเร็จ จำนวน ๔ ครั้ง นำมาหักมุมให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส และวัดขนาด ๗ เซนติเมตรจำนวน ๑ ครั้ง หักมุมแล้วทากาวร้อนติดกับไม้ไผ่ ทำให้ครบจำนวน ๔ ชิ้น
๘. นำไม้แบบเบอร์ ๓ (ขนาดความยาว ๓ เซนติเมตร) มาวัดไม้ไผ่จักสำเร็จแล้วหักเป็นชิ้นให้ครบจำนวน ๑๖ ชิ้น ใช้ไม้ขนาด ๓ เซนติเมตรทากาวร้อน ประกบในแนวตั้งเพื่อเชื่อมให้ไม้แบบสี่เหลี่ยมเบอร์ ๑๐ ทั้งสองชิ้น ให้ประสานกัน (ทั้งนี้ใช้ไม้ขนาด ๓ เซนติเมตร ประกบด้านนอกหรือด้านในก็ได้ตามความถนัด ทั้งนี้ ชิ้นส่วนฐานของโครงโคม ๑ ชิ้นจะใช้ไม้ขนาด ๓ เซนติเมตร จำนวน ๘ ชิ้น)
๙. การทำหูโคม หักไม้ไผ่มาวัดให้ได้ขนาด ๑๔ เซนติเมตร มาหักให้เป็นรูปสามเหลี่ยม จำนวน ๔ ชิ้น
๑๐. ประกบฐานโคมเข้ากับตัวโครงโคมด้านล่าง โดยใช้กาวร้อนและใช้ตัวหนีบใหญ่ช่วยให้ฐานโคมและตัวโคมติดกัน (หากต้องการให้แน่น ให้ใช้เชือกรัดระหว่างชิ้นส่วนทั้งสอง)
๑๑. ประกบฐานโคมเข้ากับหูโคม โดยใช้กาวร้อนและใช้ตัวหนีบช่วยให้ฐานโคมและหูโคมทั้งสี่ด้านติดกัน
๑๒. ประกบฐานโคมเข้ากับตัวโครงโคมด้านบน โดยใช้กาวร้อนและใช้ตัวหนีบช่วยให้ฐานโคมและหูโคมติดกัน (หากต้องการให้แน่น ให้ใช้เชือกรัดระหว่างชิ้นส่วนทั้งสอง)
๑๓. มัดเชือกห้อยโคม บริเวณฐานด้านบนสองด้านให้แน่น
๑๔. การตกแต่งโคม นำโครงโคมมาทากาวผสม (กาวลาเท็กซ์ผสมกาวยาง) แล้วนำผ้าลูกไม้ผ้าพื้นและผ้าแถบมาติดและตัดแต่งให้สวยงาม
๑๕. ตกแต่งด้วยเส้นทอง ผ้าลายแถบให้สวยงาม
๑๖. นำเชือกขาวมาผูกกับแถบกระดาษทอง ตกแต่งให้สวยงามแล้วเย็บติดกับผ้าฉลุลาย จำนวน ๔ ชิ้น
๑๗. นำส่วนของหางโคมทากาวติดกับตัวโคม ตกแต่งด้วยเส้นทอง ตกแต่งให้สวยงาม