ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 15° 52' 51.3905"
15.8809418
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 18' 9.9666"
100.3027685
เลขที่ : 197514
วัดพระบรมธาตุ (วัดเกยไชยเหนือ)
เสนอโดย นครสวรรค์ วันที่ 30 กันยายน 2565
อนุมัติโดย นครสวรรค์ วันที่ 30 กันยายน 2565
จังหวัด : นครสวรรค์
0 372
รายละเอียด

วัดเกยไชยเหนือ (บรมธาตุ) ปัจจุบันตั้งอยู่ ณ เลขที่ ๑/๑ หมู่ที่ ๔ ต.เกยไชย อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ริมฝั่งแม่น้ำยม ณ บริเวณสบกันของแม่น้ำยมกับแม่น้ำน่าน มีพื้นที่จำนวน ๒ แปลง คือ แปลงที่ ๑ เป็นพื้นที่สำหรับเป็นที่ตั้งวัดเกยไชยเหนือ (บรมธาตุ) มีเนื้อที่ ๑๗ ไร่ ๑ งาน ๓๕ ตารางวาส่วนแปลงที่ ๒ ให้หน่วยงานราชการใช้เป็นสาธารณะประโยชน์ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนชุมชนวัดเกยไชยเหนือ โดยมีเนื้อที่ ๙ ไร่ ๑ งาน ๕๗ ตารางวา

วัดเกยไชยเหนือ (บรมธาตุ) ได้รับการรับรองสภาพวัดโดยมีชื่ออยู่ในทะเบียนวัดของสำนักพุทธศาสนาจังหวัดนครสวรรค์มีสภาพเป็นวัดตามมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ในการสำรวจครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๐ ว่าวัดแห่งนี้ได้ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๐ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๐ ซึ่งเจ้าคณะผู้ปกครองฝ่ายสงฆ์ได้ปกครองดูแลตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

วัดแห่งนี้เดิมเรียกว่าวัดพระบรมธาตุดังปรากฏในเอกสารตรวจการคณะสงฆ์ มณฑลฝ่ายเหนือ พ.ศ. ๒๔๕๗ เมื่อครั้งสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสสมเด็จพระสังฆราชเจ้า เสด็จเยี่ยมวัดแห่งนี้ ดังข้อความต่อไปนี้

“เช้าเกือบ ๓ โมง เรือเคลื่อนจากทำนบหน้าวัดชุมแสง ล่องลงมาตามลำน้ำน่าน มีเรือราษฎรราว ๑๐ ลำเศษ เลี้ยวเข้าไปในลำน้ำยมอันแยกจากลำน้ำน่าน เข้าไปราวเส้นหนึ่ง ถึงวัดพระบรมธาตุ เรือพระที่นั่งหยุดทอดหน้าวัด เสด็จขึ้นทอดพระเนตร วัดนี้มีโบสถ์ก่อใบสีมาใช้หินสลักเป็นลายต่างๆ เช่นลายเทพพนมบ้าง ลายดอกไม้บ้าง มีเจดีย์รูปกลมสูงราว ๓ วาเศษอยู่องค์หนึ่ง ฐานแปดเหลี่ยม ซึ่งหมายเอาว่าเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุ ทราบว่าถึงหน้าเทศกาล ชาวบ้านประชุมนมัสการเป็นงานปี แล้วทรงประทานของแจกแก่พระสงฆ์ เจ้าอาวาสและราษฎรผู้มาคอยเฝ้าอยู่ แล้วเสด็จกลับลงเรือพระที่นั่ง”

จากหลักฐานที่กล่าวมาข้างต้น อย่างน้อยที่สุดเป็นเวลามากกว่า ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา วัดแห่งนี้เป็นวัดที่มีหลักฐานมั่นคง มีปูชนียวัตถุสำคัญที่สาธุชนโดยทั่วไปกราบไหว้ และเป็นสถานที่ที่สมเด็จพระสังฆราชราชเจ้าในสมัยนั้นเสด็จมาแวะนมัสการและเยี่ยมประชาชน

ประวัติการก่อสร้างพระบรมธาตุ ไม่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร มีแต่ คำบอกเล่าของชาววัดสืบต่อๆ กันมา ว่าการสร้างพระบรมธาตุแห่งนี้สัมพันธ์กับการสร้างวัดโพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร ในสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ หรือพระเจ้าเสือ แห่งกรุงศรีอยุธยา พระราชวงศ์พลูหลวง (พ.ศ. ๒๒๔๖ – ๒๒๕๑)

พระราชพงศาวดารของกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า พระเจ้าเสือ ประสูติ ณ บ้านโพธิ์ประทับช้าง แขวงเมืองพิจิตร เมื่อครั้งพระเพทราชา (พระบิดา) พาพระมารดา (นางกุลธิดา ราชธิดาพระเจ้าเชียงใหม่) ซึ่งมีพระครรภ์แก่ตามเสด็จสมเด็จพระนารายณ์มานมัสการพระพุทธชินราช ณ เมืองพิษณุโลก

เมื่อพระเจ้าเสือเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงระลึกถึงที่ประสูติตามคำพระมารดาตรัสเล่า จึงโปรดให้สมุหนายกเกณฑ์ผู้คนลำเลียงสิ่งของ เช่น อิฐ ปูนขาว กาวหนัง เชือก ฯลฯ บรรทุกเรือมาก่อสร้างวัด ณ บริเวณดังกล่าว ใช้เวลาประมาณสองปีเศษ จึงแล้วเสร็จสิ้น

ในระหว่างการก่อสร้างพระอารามแห่งนี้ ตราบจนกระทั่งเสร็จสมบูรณ์ คงจะมีเรือบรรทุก สิ่งก่อสร้างผ่านไปมาหลายครั้ง พระเจ้าเสืออาจเสด็จมาเวลาใดเวลาหนึ่ง รวมทั้งที่เสด็จมาในงานฉลองพระอารามตามที่ปรากฏในพระราชพงศาวดาร มีเรื่องเล่าแทรกมาว่า เรือพระที่นั่งเกยตื้น ณ หาดทรายบริเวณที่ตั้ง

วัดเกยไชยเหนือ (บรมธาตุ) ในปัจจุบัน พระเจ้าเสืออาจทอดพระเนตรเห็นชัยภูมิ ที่แปลกตาเนื่องจากการสบกันของแม่น้ำสองสาย จึงตรัสขอที่ดินจากสองตายายผู้ทำมาหากินบริเวณนั้น สร้างพระเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุ เข้าใจว่าคงโปรดให้สร้างวัดขึ้นด้วยไปพร้อมกัน ณ บริเวณดังกล่าว โดยใช้วัสดุสิ่งของจากการสร้าง

วัดโพธิ์ประทับช้าง จึงเรียกขานกันว่าวัดพระบรมธาตุตั้งแต่นั้นมา สำหรับหมู่บ้านแถบนั้นก็ได้นามว่าบ้านเกยไชย ตามเหตุการณ์เรือพระที่นั่งเกยตื้น

เมื่อประมวลคำบอกเล่าเข้ากับหลักฐานที่ระบุไว้ในพระราชพงศาวดาร ทำให้เชื่อว่า วัดแห่งนี้คงมีความเกี่ยวเนื่อง ด้วยวัดโพธิ์ประทับช้างทั้งนี้เพราะสิ่งก่อสร้างภายในวัดที่ยังหลงเหลืออยู่มีลักษณะลวดลายคล้ายคลึงหรือเป็นรูปแบบเดียวกับวัดโพธิ์ประทับช้าง เช่น ลวดลายเทพพนมประดับใบเสมาโบสถ์ เป็นต้น

บ้านเกยไชย มีปรากฏชื่ออีกครั้งในสมัยพระเจ้าตากสิน เมื่อครั้งเสด็จมาปราบชุมนุมพิษณุโลกหลักฐานระบุว่า กองทัพหลวงพระเจ้ากรุงธนบุรี ตั้ง ณ ตำบลเกยชัย (คำว่า “ชัย” สะกดตามหลักฐานในพระราชพงศาวดาร) กองทัพธนบุรีปะทะกองทัพพิษณุโลกในครั้งนั้น พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงได้รับบาดเจ็บที่พระชงฆ์เพราะต้องปืน จึงถอยทัพกลับไป ดังนั้น คำบอกเล่าที่ระบุว่าบ้านเกยไชยได้นามนี้จากชัยชนะของพระเจ้าตากสิน จึงขัดแย้งกับหลักฐานในพงศาวดารก่อนหน้า

จากหลักฐานที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้เชื่อได้ว่า วัดแห่งนี้มีอยู่มาอย่างต่อเนื่อง ตลอดสมัยอยุธยาตอนปลาย ตราบจนกระทั่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้าเสด็จมามนัสการพระบรมธาตุดังได้กล่าวมาแล้ว อนึ่ง ควรระบุไว้ในที่นี้ด้วยว่า เมื่อครั้งสมัยรัชกาลที่ ๕ เกยไชยมีฐานะเป็นอำเภอภายหลังจากอำเภอพันลานเปลี่ยนไปเป็นตำบลแล้ว ซึ่งอำเภอเกยไชยตามพระราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๒๐ หน้า ๔๙๘ ลงวันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๖ (ร.ศ. ๑๒๒) โดยขณะนั้นมีหลวงผดุงแดนสวรรค์ เป็นนายอำเภอ ซึ่งเป็นเครื่องแสดงถึงความเจริญรุ่งเรือง เมื่อมีการย้ายอำเภอไปที่ชุมแสง ฐานะของเกยไชยจึงเปลี่ยนไปเป็นตำบลในขณะที่ชุมแสงได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอมาจนถึงปัจจุบัน

จากคำบอกเล่าของพระครูนิทานธรรมประนาท (เที่ยง ปหฏฺโฐ) อดีตเจ้าอาวาสวัดเกยไชยเหนือ ระบุว่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๓ สมัยพระครูนิภัยวิเทต (หลวงพ่อทองอยู่) ได้พาชาวบ้านทำการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์ ได้พบว่ายอดพระเจดีย์ประดับด้วยขันลงหิน ๕ ใบคว่ำ ประกอบกันเป็นตุ้ม ครั้งนั้น ได้พบพระธาตุมีลักษณะเป็นแก้วผลึกใส มีขนาดยาว ๑ นิ้ว เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒ เซนติเมตร ๑ องค์ รูปพรรณสัณฐานคล้ายคลึงกับพระธาตุ ของพระสาวกองคุลีมาล เข้าใจว่าองค์พระเจดีย์คงบรรจุไว้ทั้งพระบรมธาตุ และพระธาตุของพระสาวก

อดีตเจ้าอาวาสยังเล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ในระหว่าง งานผูกพัทธสีมาอุโบสถหลังใหม่ ได้เกิดปรากฎการณ์ประหลาด มีน้ำเดือดผุดเกิดขึ้น ณ บริเวณท่าน้ำหน้าพระบรมธาตุ เป็นเวลาประมาณ ๒ – ๓ วัน แล้วหายไป ชาวบ้านพากันมาดูมากมายต่างเชื่อกันว่าเป็นการแสดงปาฏิหาริย์ของพระบรมธาตุ ความศักดิ์สิทธิ์ของพระบรมธาตุเป็นที่ประจักษ์แก่คนทั่วไป

งานสมโภชพระบรมธาตุมีสืบเนื่องมาโดยตลอด จัดเป็นประจำทุกๆ ปี ปีละ ๒ ครั้ง ดังนี้

ครั้งที่ ๑เป็นงานปิดทองและห่มผ้าองค์พระบรมธาตุ ในวันขึ้น ๑๔– ๑๕ ค่ำ เดือน ๕

ครั้งที่ ๒จัดขึ้นในวันแรม ๑ – ๒ ค่ำ เดือน ๑๑ เพื่อปิดทององค์พระบรมธาตุ และงานประเพณีแข่งเรือ

เท่าที่สืบค้นได้วัดแห่งนี้ มีรายนามผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสดังนี้

๑. พระอาจารย์ปั่น (พ.ศ. ๒๔๐๐ – ๒๔๒๙)

๒. พระสมุห์สอน (พ.ศ. ๒๕๓๐ – ๒๔๕๐)

๓. พระครูนิรภัยวิเทต (ทองอยู่ ปญฺญาวฑฺฒฺโน, พ.ศ. ๒๔๖๖ – ๒๕๒๔)

๔. พระครูนิทานธรรมประนาท (เที่ยง ปหฏโฐ, พ.ศ. ๒๕๒๔ – ๒๕๔๖)

๕. พระครูนิธานปุญญาภิวัฒน์ เจ้าคณะอำเภอชุมแสง (พ.ศ. ๒๕๔๖ – ๒๕๖๕)

๖. พระครูศรีภัทรนิโรธ เจ้าอาวาสวัดเกยไชยเหนือ(๒๕๖๕-ปัจจุบัน)

จากการรวมรวมและสรุปข้อมูลโดยการประมวลผลข้อมูลต่างๆ ซึ่งวัดเกยไชยเหนือ (บรมธาตุ) ในปัจจุบัน น่าจะมีอายุประมาณ ๓๐๐ กว่าปีแล้ว โดยมีการสร้างพระเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุ ขึ้นระหว่างปี พ.ศ. ๒๒๔๖ ถึง พ.ศ. ๒๒๕๑ ในสมัยที่สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ หรือ พระเจ้าเสือ แห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งพระองค์เสด็จอยู่ในช่วงของการครองพระราชสมบัติ แต่ไม่มีหลักฐานใดปรากฏแน่ชัดว่ามีการสร้างวัดในคราวเดียวกันนี้ อาจเป็นเพียงการสร้างเฉพาะในส่วนของพระเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุเท่านั้น และ เมื่อได้มีการเรียบเรียงเหตุการณ์ต่างๆ สนับสนุนข้อมูลสรุปตามลำดับดังนี้

๑. สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ หรือ พระเจ้าเสือ แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้ทรงก่อสร้างพระบรมธาตุแห่งนี้สัมพันธ์กับการสร้างวัดโพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร ซึ่งพระองค์เสด็จอยู่ในพระราชสมบัติ พ.ศ. ๒๒๔๖– ๒๒๕๑

๒. พระเจ้ากรุงธนบุรี หรือ พระเจ้าตากสิน เมื่อครั้งเสด็จมาปราบชุมนุมพิษณุโลกหลักฐานระบุว่า กองทัพหลวงพระเจ้ากรุงธนบุรี ตั้ง ณ ตำบลเกยชัย (คำว่า “ชัย” สะกดตามหลักฐานในพระราชพงศาวดาร) กองทัพธนบุรีปะทะกองทัพพิษณุโลกในครั้งนั้น ซึ่งพระองค์เสด็จอยู่ในพระราชสมบัติ พ.ศ. ๒๓๑๐ ถึง พ.ศ. ๒๓๒๕

๓. สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้า เสด็จเยี่ยมวัดและตรวจการคณะสงฆ์ มณฑลฝ่ายเหนือ พ.ศ. ๒๔๕๗ ตามลำดับ

แม่น้ำน่านต้นกำเนิดอยู่ที่ทิวเขาหลวงพระบาง ทางทิศตะวันตกในเขต อ.ปัว จ.น่าน ไหลไปทางทิศเหนือแล้วหักลงใต้ผ่าน จ.อุตรดิตถ์ จ.พิษณุโลก

จ.พิจิตร แล้วไหลมารวมกับแม่น้ำยมที่หน้าวัดเกยไชยเหนือ (บรมธาตุ) ต.เกยไชย อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ก่อนที่จะไปรวมกับแม่น้ำปิง และแม่น้ำวังที่ ต.แควใหญ่ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน่านมีความยาวประมาณ ๗๔๐ กิโลเมตร แม่น้ำน่านมีเขื่อนอเนกประสงค์กั้นถึงสองแห่งด้วยกันคือเขื่อนสิริกิติ์ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ และ ที่เขื่อนนเรศวร ที่จังหวัดพิษณุโลก

แม่น้ำยมต้นกำเนิดมาจากดอยขุนยวม ๒ ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของทิวเขาแดนลาวในเขต อ.ปง จ.เชียงราย ได้ไหลผ่าน จ.พะเยา ได้ผ่านไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ผ่าน อ.สอง อ.วังชิ้น จ.แพร่ จ.สุโขทัย ผ่าน จ.พิษณุโลก และ จ.พิจิตร แล้วไหลมาบรรจบกับแม่น้ำน่านที่บริเวณหน้าวัดเกยไชยเหนือ (บรมธาตุ) ต.เกยไชย อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ความยาวของแม่น้ำยม ประมาณ ๕๕๐ กิโลเมตร

แม่น้ำทั้งสองสายมีลักษณะที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัด แม่น้ำน่านจะมีสีแดงขุ่น เนื่องจากระยะทางที่แม่น้ำน่านไหลผ่าน ส่วนมากจะไหลผ่านบริเวณที่ น้ำกัดเซาะและเกิดจากการพังทลายของดินลูกรัง ดินดาน ทำให้มีสีแดงขุ่น ส่วนแม่น้ำยมจะมีสีเขียวใส เนื่องจากระยะทางที่แม่น้ำไหลผ่านจะเป็นที่ราบลุ่มดินทราย จึงทำให้น้ำมีสีเขียวใส แม่น้ำทั้งสองสายนี้เปรียบเสมือนสายโลหิตของพลเมืองที่อาศัยอยู่บริเวณนี้

หมวดหมู่
ศาสนสถาน
สถานที่ตั้ง
ตำบล เกยไชย อำเภอ ชุมแสง จังหวัด นครสวรรค์
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
บุคคลอ้างอิง อวยพร พัชรมงคลสกุล อีเมล์ paitoog@hotmail.com
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่