ลักษณะธงตะขาบของมอญ สมัยก่อนเป็นธงกระดาษ ต่อมาเปลี่ยนเป็นผ้า ปัจจุบันใช้เชือกเป็นเส้นขอบผูกขวางคั้นด้วยซี่ไม้ไผ่เป็นช่วง ๆ ใช้เสื่อผืนยาวปิดทับแทนผ้าหรือกระดาษเป็นลำตัว ปลายไม้ที่ยื่นสองข้างทุกซี่ประดับด้วยช้อนผูกห้อยแทนขา สลับกับพู่กระดาษเพื่อความสวยงาม หัวและหางสานผูกด้วยโครงไม้ปิดกระดาษ ในส่วนของหางจะนำลูกมะพร้าว (ตะกร้อ) ที่ใส่ผมหรือผูกติดกับหาง ซึ่งแต่ละส่วนจะมีความหมายการนำไม้มาขนาบ ๑๐ คู่ ได้แก่พระเจ้า ๑๐ ชาติ จะเรียกแต่ละช่วงว่ากระทง ทั้งหมดมี ๙ กระทง ซึ่งกระทงด้านบนสุด เปรียบเสมือนนิพพาน ซึ่งเหลืออีก ๘ กระทงจะแบ่งออกเป็นอย่างละ ๔ กระทง เปรียบเสมือน ผล ๔ และมรรค ๔ และการเจาะรูเป็นช่วง ๕ ช่อง ได้แก่ พรรษาของพระพุทธเจ้า ๔๕ พรรษา จากนั้นจะทำการแห่ไปที่วัด เมื่อถึงก็จะขึงธงไว้กับต้นเสาในศาลา จากนั้นพระจะนำสายสิญจน์มาวงรอบธง แล้วจึงทำพิธีถวายธงตามด้วยการสรงน้ำพระ เสร็จแล้วจึงนำธงไปชักขึ้นแขวนบนเสาหงส์
ธงตะขาบแต่ละผืนจะมีลวดลายที่แตกต่างกันออกไป คนในชุมชนร่วมด้วยช่วยกันในการตกแต่งและออกแบบลวดลายในธงตะขาบ แสดงถึงความสามัคคีของคนในชุมชนอีกด้วย ทั้งยังเป็นการแสดงถึงหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกให้กับคนในชุมชน และนำหลักคำสอนมาปฏิบัติ ในชีวิตประจำวัน นอกจากนั้นยังมีธงตะขาบขนาดเล็กที่ซึ่งลวดลายจะไม่ได้มีลายละเอียดเท่าธงตะขาบอันใหญ่