ลำพวน เป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษของชาวพวน โดยเรียกคนลำ ว่า "หมอลำพวน" ผู้ลำ คิดคำร้องขึ้นเองเป็นการแสดงความสามารถทางภาษาและเป็นการแสดงศิลปะ การขับร้อง ทำนองขับขาน ใช้เสียงแคนเป็นเครื่องดนตรีประกอบ การลำมีเนื้อหาเรื่องราวเกี่ยวกับการ ถามสารทุกข์สุขดิบ ถามข่าวคราว เกลี้ยวพาราสีหนุ่มสาวคำกลอนที่ใช้ลำมีทั้งคำที่นึกคิดขึ้นขณะลำ (ด้นสด) และคำที่แต่งขึ้นมาแต่โบราณ
การแสดงลำพวนไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่าเกิดขึ้นในสมัยใดและแสดงครั้งแรกเมื่อไร แต่ต้นกำเนิดของลำพวนน่าจะเกิดจากคำผญา นิทาน วรรณคดี และนำมาผสมผสานกันเข้ากับท่วงทำนอง
ก่อนจะทำการแสดงจะมีการไหว้ครู โดยทำกรวยขันธ์ 5 พร้อมธนบัตรติดไว้ปลายแคน หมอแคน จะเริ่มเป่าทันที การแสดงลำพวน เป็นศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านสืบทอดมาจากบรรพบุรุษของชาวพวน เป็นการละเล่นที่เป็นทำนองร้องต่อกันคนละบท ในเนื้อร้องใจความต่างๆ เป็นการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยพวนที่มีขึ้นในเทศกาลเพื่อความรื่นเริง ซึ่งแต่งและขับร้องโดยชาวไทยพวนวิถีชีวิตของคนพวน เวลามีงานบุญต่างๆ การรวมตัวกัน มีอุปนิสัยสนุกสนาน รื่นเริง ผู้สูงอายุนำเอาศิลปวัฒนธรรมที่มีอยู่ในชุมชนมาแสดง คือ การเล่นลำพวน ซึ่ง “ลำ” คือการพรรณนา เป็นคำพูด เช่น เป็นการให้ศีลให้พร การเกี้ยวพาราสี เครื่องดนตรีใช้แคนตัวเดียว หมอลำผู้ชายและหมอลำผู้หญิง ลำเกี้ยวพาราสีกัน ให้ผู้ชมสนุกสนาน
รูปแบบการร้อง จะสลับกันระหว่างชายหญิง ในเนื้อหาเรื่องราวเดียวกัน โดยเริ่มต้นการเป่าแคนนำแล้วรำ ลำด้วยผู้ชายเป็นลำดับแรก สลับกันไปกับผู้หญิงทำเช่นนี้จนหมดเรื่องราวที่ต้องการสื่อสาร ทำนองร้องมักขึ้นเรื่องด้วย “แม่นทะวะโอ้ โอ้หน้อ นี่ละเน้อ” ลักษณะการลำ และทำนองแคน ภาษาในการลำยังคงยึดถือตามรูปแบบดั้งเดิม แต่ในตัวบทร้องอาจมีการแต่งขึ้นมาใหม่ เพื่อสื่อสารในเรื่องราวต่างๆ ในสถานการณ์ปัจจุบันหรือบทลำเกี่ยวกับที่บรรยายถึงวิถีชีวิตของคนในชุมชน หรือของดีชุมชน เป็นต้น ในการลำบางช่วงมีการเป่าเดี่ยวแคน ผู้ลำทั้งสองฝ่ายและผู้ร่วมงานหรือผู้ชมก็จะร่วมฟ้อนรำตามจังหวะเสียงแคนอย่างสนุกสนาน