งานประเพณีกวนข้าวทิพย์ เมืองโบราณดงละคร มาฆะปุณณมี ศรีดงละคร มีปฏิบัติ ณ โบราณสถานหมายเลข ๑ เมืองโบราณดงละคร ซึ่งเป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดี ตั้งอยู่ในเขตตำบลดงละคร อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ตั้งอยู่ในเขตชั้นนอกของเมืองดงละคร ห่างจากประตูเมืองชั้นในด้านทิศเหนือประมาณ ๒๕๐ เมตร โดยตำบลดงละครนั้น ตั้งอยู่ทางทิศใต้ ของอำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก มี 13 หมู่บ้าน
โดยทั่วไปพื้นที่ส่วนใหญ่ของตำบลดงละครเป็นพื้นที่ทางการเกษตรทำนาและทำสวน เลี้ยงปลา
ประเพณีกวนข้าวทิพย์ในเมืองโบราณดงละครนั้น เริ่มทำครั้งแรกในปี ๒๕๕๓ โดยท่านพระครูสันติวัฒนวิมล (จรูญ ธมฺวโร) เจ้าอาวาสวัดสันติวัฒนาราม ตำบลดงละคร และคุณแม่บุนนาค อุตปทุม ได้นำรูปแบบการกวนข้าวทิพย์จากจังหวัดปทุมธานี มาชวนชาวบ้านภายในพื้นที่ มาร่วมกันประกอบพิธี ณ โบราณสถานเมืองโบราณดงละคร ในวันมาฆบูชา (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓) จึงเรียกว่า “มาฆปุณณมี ศรีดงละคร” ประเพณีการกวนข้าวทิพย์ในตำบลดงละครนั้น มีหมู่บ้านที่มาเข้าร่วมการกวนทั้งหมด ๑๓ หมู่บ้าน นอกจากนี้ยังมีตำบลอื่นเข้ามาร่วมพิธีกรรมด้วย ได้แก่ ตำบลท่าทราย ตำบลดอนยอ ในการจัดทำการกวนข้าวทิพย์ เมืองโบราณดงละคร ในปัจจุบัน จะมีประชาชนทั่วไปในจังหวัดนครนายกมาร่วมด้วย และถือปฏิบัติเป็นประจำทุกปี
ประเพณีกวนข้าวทิพย์ เป็นพิธีกรรมของศาสนาพราหมณ์เข้ามาปะปนในพิธีกรรมทางพุทธศาสนา เพื่อถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ บูชาพระรัตนตรัยและอุทิศส่วนกุศล ให้แก่ผู้ตาย ประเพณีกวนข้าวทิพย์เป็นพระราชพิธีที่กระทํากันในเดือน ๑๐ ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและกรงุศรีอยุธยาเป็นราชธานี และได้รับการ ฟื้นฟูครั้งใหญ่ ในสมัยรัชกาลที่ ๑ และมาละเว้นเลิกรา ไปในสมัยรัชกาล ที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓ แล้วมาได้รับ การฟื้นฟู อีกครั้งหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา แต่ในปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่จะจัดกันในเดือน ๑๒ บางแห่งก็เดือนหนึ่ง ซึ่งคงจะถือเอาระยะที่ข้าวกล้าในท้องนามีรวงขาวเป็นน้ำนม ของแต่ละปี และชาวบ้านก็มีความพร้อมเพรียงกัน
พิธีกวนข้าวทิพย์ของตำบลดงละคร จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันมาฆบูชา (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓) ณ โบราณสถานเมืองโบราณดงละคร โดยชาวบ้านจะมาร่วมกันจัดเตรียมสถานที่อุปกรณ์และเครื่องปรุงในการกวนข้าวทิพย์ ใครมีเครื่องปรุงอะไรก็นำมารวมกัน ที่ไม่มีก็บริจาคเงินร่วมจัดซื้อ เมื่อถึงวันประกอบพิธีก็มาช่วยกันกวนจนสำเร็จ ซึ่งใช้เวลาไม่ต่ำกว่า ๖ ชั่วโมง หลังจากนั้นก็จะนำไปถวายพระสงฆ์แบ่งปันกันไปรับประทานหรือฝฝากบุคคลที่เคารพนับถือ นับเป็นลักษณะเฉพาะถิ่นที่แฝงด้วยจริยธรรมและคติธรรม สะท้อนให้เห็นสภาพชีวิต ความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมประเพณี ค่านิยมและความเชื่อที่ดีงามของท้องถิ่น เป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องของความสามัคคีพร้อมเพรียงของชาวบ้านเป็นหลัก ซึ่งควรที่จะอนุรักษ์และสืบทอดให้คงอยู่ตลอดไป