พิธีอัญเชิญหลวงพ่อโสธร ขึ้นจากแม่น้ำบางปะกง
งานประเพณีอัญเชิญหลวงพ่อโสธรขึ้นจากแม่น้ำบางปะกง เป็นการจัดงานเพื่อสมโภชวันคล้ายวันที่อาราธนาหลวงพ่อโสธรขึ้นจากแม่น้ำบางปะกงและอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐาน ณ วัดโสธรวรารามวรวิหาร (ชาวจังหวัดฉะเชิงเทรา ถือว่า งานประเพณีกลางเดือน ๕ เป็น งานสมโภชวันเกิดของหลวงพ่อโสธร)
การจัดงานประเพณีอัญเชิญหลวงพ่อโสธรขึ้นจากแม่น้ำบางปะกง มีมูลเหตุมาจากตำนานหลวงพ่อโสธรที่กล่าวถึง ประวัติความเป็นมาของหลวงพ่อโสธร พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองจังหวัดฉะเชิงเทรา หรือ แปดริ้ว โดยในตำนาน กล่าวว่า หลวงพ่อโสธร ได้แสดงอภินิหารลอยน้ำมาขึ้นที่หน้าวัดหงส์หรือวัดโสธรวรารามวรวิหารในปัจจุบัน ชาวบ้านได้พยายามฉุดขึ้นฝั่งหลายครั้งหลายหนแต่ไม่สามารถอัญเชิญหลวงพ่อโสธรขึ้นจากแม่น้ำบางปะกงได้จนกระทั่งมีอาจารย์ผู้มีความรู้ทางไสยศาสตร์ผู้หนึ่งได้ตั้งศาลเพียงตาบวงสรวง นำสายสิญจน์คล้องกับพระหัตถ์พระพุทธรูป และชักชวนชาวบ้านทั้งชาวไทยและจีนให้ร่วมกันจับสายสิญจน์ ชักองค์พระขึ้นมา จึงสามารถอาราธนาขึ้นฝั่งได้โดยง่าย โดยใช้คนไม่กี่คน และอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ วิหารวัดหงส์ หรือวัดโสธรวรารามวรวิหารในปัจจุบัน ได้เป็นผลสำเร็จตามความประสงค์ เมื่อวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๕ ซึ่งสันนิษฐานว่า น่าจะอยู่ราวปี พ.ศ. ๒๓๑๓ อันเป็นสมัยต้นกรุงธนบุรี (มรดกไทยจังหวัดฉะเชิงเทรา, ๒๕๔๑, หน้า ๑๒ - ๑๓)
งานประเพณีอัญเชิญหลวงพ่อโสธรขึ้นจากแม่น้ำบางปะกง เป็นการจัดงานพิธีย้อนอดีตการอัญเชิญหลวงพ่อโสธรขึ้นจากแม่น้ำบางปะกงตรงกับวันขึ้น ๑๔ค่ำ - วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๕ (๓ วัน ๓ คืน) เป็นวันที่อัญเชิญหลวงพ่อโสธรขึ้นมาจากแม่น้ำบางปะกงแล้วนำไปประดิษฐานในพระอุโบสถ ประเพณีอัญเชิญหลวงพ่อโสธรขึ้นจากแม่น้ำบางปะกงนี้ แต่เดิมการจัดงานมีความเรียบง่ายโดยวัดโสธรวรารามวรวิหารจะอัญเชิญองค์หลวงพ่อโสธรแห่ทางบกไปตามหมู่บ้านใกล้ ๆ วัดเพื่อให้ประชาชนบริเวณรอบวัดได้สักการะบูชา และมีพิธีเจริญพระพุทธมนต์โดยพระสงฆ์ในวัด และในวันรุ่งขึ้นจะมีพิธีตักบาตร เวียนเทียน และสรงน้ำหลวงพ่อ มีมหรสพสมโภชเป็นประจำตลอด ๓ คืน ได้แก่ ละคร ลิเก และงิ้ว
ต่อมา จังหวัดฉะเชิงเทราได้ร่วมกับวัดโสธรวรารามวรวิหาร โดยพระธรรมมังคลาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดโสธรวรารามวรวิหารได้ร่วมกันจัดงานประเพณีอัญเชิญหลวงพ่อโสธรขึ้นจากแม่น้ำบางปะกงอย่างสร้างสรรค์ โดยจัดงานย้อนอดีตการอัญเชิญหลวงพ่อโสธรขึ้นจากแม่น้ำบางปะกง มีการจัดกิจกรรมทางด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมที่หลากหลายและมีส่วนร่วมของหน่วยงาน องค์กร ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมากขึ้นอย่างกว้างขวาง
รูปแบบการจัดงาน
พิธีอัญเชิญหลวงพ่อโสธรขึ้นจากแม่น้ำบางปะกงมีแนวทางการดำเนินกิจกรรม ดังนี้
๑) มีพิธีสงฆ์ / พิธีบวงสรวงอัญเชิญหลวงพ่อโสธรขึ้นจากแม่น้ำบางปะกง มีการจัดขบวนแห่อัญเชิญหลวงพ่อโสธรไปประดิษฐาน ณ พระอุโบสถวัดโสธรวรารามวรวิหาร โดยมีชุมชนจากอำเภอต่างๆ ทุกอำเภอในจังหวัดฉะเชิงเทราร่วมจัดกิจกรรมรื่นเริงเฉลิมฉลองรับองค์หลวงพ่อโสธรตลอดแนวขบวนแห่ เมื่อองค์หลวงพ่อโสธรเข้าสู่พระอุโบสถวัดโสธรวรารามวรวิหารพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ จำนวน ๑๕๐ รูป ประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์สวด "ธัมมจักกัปปวัตนสูตร” และพระสงฆ์มีการเจริญพระพุทธมนต์ตั้งแต่วันขึ้น ๑๔ ค่ำ ถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๕
๒) กิจกรรมรำถวายหลวงพ่อโสธร โดยในวันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๕ หลังพิธีอัญเชิญหลวงพ่อโสธรขึ้นจากแม่น้ำบางปะกงเข้าประดิษฐาน ณ พระอุโบสถวัดโสธรวรารามวรวิหารและพระสงฆ์ได้จัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์เรียบร้อยแล้ว การแสดงของสตรีชาวจังหวัดฉะเชิงเทราทั่วทั้งจังหวัด กว่า ๑,๕๐๐ คน แต่งกายชุดไทยย้อนยุคร่วมรำบูชาถวายหลวงพ่อโสธรรอบพระอุโบสถวัดโสธรวรารามวรวิหารอย่างยิ่งใหญ่ สวยงาม ตระการตา โดยมีการจัดทำบทเพลงและท่ารำขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อใช้ประกอบการรำถวายหลวงพ่อโสธร (ดำเนินการโดย สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา)
๓) กิจกรรมมหรสพสมโภชในงานประเพณีอัญเชิญหลวงพ่อโสธรขึ้นจากแม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทราร่วมกับวัดโสธรวรารามวรวิหารจัดงานมหรสพสมโภชพิธีอัญเชิญหลวงพ่อโสธรขึ้นจากแม่น้ำบางปะกงโดยมีกิจกรรมที่หลากหลาย ได้แก่ การจัดแสดงลิเก ละครชาตรี การแสดงงิ้ว บริเวณโดยรอบพระอุโบสถวัดโสธรวรารามวรวิหาร เป็นเวลา ๓ คืน (วันขึ้น ๑๔ ค่ำ ถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน
๔) และมีการประดับไฟ แสง สีอาบพระอุโบสถวัดโสธรวรารามวรวิหารอย่างสวยงาม ตระการตา นอกจากนี้ ในระหว่างวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ถึงวันแรม ๑ ค่ำ ทางวัดโสธรวรารามวรวิหารเปิดพระอุโบสถให้ประชาชนเข้ามาสักการะขอพรในระหว่างวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๕ เป็นกรณีพิเศษ ตั้งแต่เวลา ๐๗.๐๐ – ๒๑.๐๐ น. (ปกติทุกวันจะเปิดช่วงเวลา ๐๗.๐๐ – ๑๖.๓๐ น.)