การสืบสานประเพณีสงกรานต์กลุ่มชาติพันธุ์ ชาวไทยเชื้อสายรามัญ “มอญน้ำเค็ม” เป็นประเพณีที่มาเนิ่นนาน ซึ่งมีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาจนถึงปัจจุบัน ในประเพณีสงกรานต์ฯ จะมีการจัดกิจกรรมตั้งแต่วันที่ ๑๓ - ๑๘ เมษายน ชาวมอญจะจัดกิจกรรมทำบุญร่วมกัน ชาวมอญจะเรียกวันที่ ๑๓ ปีเก่า วันที่ ๑๔ วันเน่า วันที่ ๑๕ จะเป็นขึ้นปีใหม่ ซึ่งในวันที่ ๑๕ จะมีการบังสุกุลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และทำขนมคาวหวาน เพื่อนำไปทำบุญ หลังจากนั้นจะมีพิธีกรรมที่เรียกว่า “เรียกผีกลางคืน” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพิธีที่จะจัดขึ้นในวันที่ ๑๕ ประเพณีนี้ได้มีการจัดขึ้นเมื่อสมัยก่อน ปัจจุบันทางชุมชนชาวมอญไม่ได้มีการดำเนินการจัดแล้ว หลังจากนั้น ชาวมอญในจังหวัดสมุทรสาครจะมีการแบ่งวันเพื่อให้ในแต่ละวัดจัดงานประเพณีสงกรานต์ฯ ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมีหลากหลายวัด
การจัดงานประเพณีสงกรานต์ฯ ในพื้นที่วัดเกาะได้มีการสืบสานงานประเพณีสงกรานต์มาเนิ่นนาน โดยคนในชุมชนจะแต่งกายประจำชาติของชาวมอญ มีการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ การสรงน้ำพระ ซึ่งจะนำน้ำมาผสมกับน้ำอบ การสรงน้ำพระของชาวมอญจะสรงน้ำผ่านทางรางน้ำ โดยจะสรงน้ำพระทั้งร่างกาย จะมีสร้างห้องให้พระสงฆ์นั่งอยู่ในห้อง รางน้ำก็จะไหลไปตามทางจนไปถึงห้องที่พระสงฆ์นั่ง ซึ่งเป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวมอญ และมีการกวนกาละแม ซึ่งคนในชุมชนจะร่วมแรงร่วมใจ เพื่อสร้างความสามัคคีให้กับคนในชุมชน นอกจากนั้นยังมีการจำหน่ายกาละแม โดยรายได้ที่ได้รับจะนำมาบริจาคเข้าวัดอีกด้วย
นอกจากนั้นยังมีการละเล่นของชาวมอญ การละเล่นทะแยมอญ สะบ้าหนุ่มสาว สะบ้าทอย และการจุดลูกหนู แต่ในปัจจุบันการละเล่นจุดลูกหนูได้ยกเลิกไปแล้ว ซึ่งการจุดลุกหนูค่อนข้างอันตรายทำให้มีการยกเลิกการละเล่นชนิดนี้ ในช่วงหัวค่ำมีการละเล่นลูกสะบ้า มีการทอยลูกสะบ้าทุกวัน และมีองค์การบริหารส่วนตำบล และองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้มีส่วนร่วมมีการนำอาหาร น้ำดื่มและสิ่งของมาแจกจ่าย ให้กับคนในชุมชนอีกด้วย โดยมีการประกวดการแต่งกายประจำชาติของชาวมอญ เพื่อไม่ให้คนอนุชนรุ่นหลังลืมเลือนการแต่งกายของชาวมอญ