คำว่า “ครูบา” “ครู” คือผู้สั่งสอนวิชาความรู้ อบรมจรรยามารยาทให้แก่ศิษย์ “บา” เป็นภาษาถิ่น (ทางเหนือ) หมายถึงพระภิกษุสงฆ์ ที่มีพรรษามาก เป็นที่เคารพเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนทั่วไป เพราะสมัยก่อนการศึกษาจะมีพระเป็นผู้สอน ดังนั้นจึงทำหน้าที่เป็นครูไปด้วย ดังนั้นจึงนำคำว่า "ครู" มาซ้อนกับคำว่า "บา" กลายเป็น "ครูบาอาจารย์" ในภาษาไทย ครูบา คือ อาจารย์หรือผู้สอน เดิมเรียกคล้องจองกันว่า ครูบาอาจารย์ คำเรียกขานนำหน้าพระสงฆ์ว่า "ครูบา" ในทางเหนือ "ครูบา" นั้นยังหมายถึงพระภิกษุผู้ทรงคุณความรู้ เป็นที่เคารพศรัทธาอย่างยิ่งสำหรับคนทั่วไป ที่เป็นที่เคารพนับถือ กอปรด้วยบารมีคุณ พุทธคุณ ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ปัจจุบันพระภิกษุสงฆ์ในเขตทางภาคเหนือนั้น ที่ประชาชนให้การยกย่อง นับถือ ว่าเป็นครูบา นั้นส่วนมากมักจะมีอายุในทางโลกนั้นตั้งแต่อายุประมาณ ๕๐-๖๐ ปี ขึ้นไป จึงมักจะได้รับการเรียกขานว่า “ครูบา”
จังหวัดลำพูน ถือได้ว่าเป็นเมืองบุญแห่งล้านนาที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน และมีแรงศรัทธาของประชาชนที่มีต่อพระพุทธศาสนาอย่างเข้มแข็ง อีกทั้ง ยังเป็นเมืองแห่งครูบาที่มีชื่อเสียงหลายท่าน ได้แก่
1. ครูบาศรีวิชัย (นักบุญแห่งล้านนาไทย) วัดบ้านปาง ตำบลศรีวิชัย อำเภอลี้ พระครูบาศรีวิชัย ถือได้ว่าเป็นพระผู้ทรงคุณประโยชน์ทางด้านการศาสนา เป็นผู้ทรงศีลจริยวัตรปฏิบัติบำเพ็ญสมถะและวิปัสสนา กัมมัฏฐานอย่างเคร่งครัด มุ่งมั่นปฏิบัติธรรมเจริญรอยตามพระบรมศาสดา
๒. พระสุพรหมยานเถร (ครูบาพรหมจักร พฺรหฺมจกฺโก) วัดพระพุทธบาทตากผ้า ตำบลมะกอก อำเภอป่าซาง พระสุพรหมยานเถร ถือได้ว่าเป็นพระผู้ทำคุณงามความดีแก่พระพุทธศาสนา ตลอดจนเผยแพร่ธรรมะแก่ศรัทธาสาธุชน เป็นผู้มีวัตรปฏิบัติอันเคร่งครัด มีปฏิปทาอันงดงาม จนเป็นที่เลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ
๓. ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ตำบลนาทราย อำเภอลี้ ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา ถือได้ว่าเป็นพระผู้เผยแพร่สั่งสอนธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้กับพวกชาวเขาในที่ต่างๆ
๔. ครูบาอภิชัย (ขาวปี) วัดพระพุทธบาทผาหนาม ตำบลแม่ตืน อำเภอลี้ ครูบาอภิชัย ถือได้ว่าเป็นพระผู้เปรียบเสมือนทายาทธรรมของพระครูบาศรีวิชัย (นักบุญแห่งล้านนา)