ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 8° 24' 41.4306"
8.411508497062389
ลองจิจูด (แวง) : E 99° 57' 58.1633"
99.96615645893696
เลขที่ : 196550
วิหารเขียน วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร
เสนอโดย นครศรีธรรมราช วันที่ 5 พฤษภาคม 2565
อนุมัติโดย นครศรีธรรมราช วันที่ 5 พฤษภาคม 2565
จังหวัด : นครศรีธรรมราช
0 235
รายละเอียด

“วิหารเขียน”เป็นวิหารขนาดเล็ก กว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๒๕ เมตร อยู่ทางทิศเหนือของพระบรมธาตุเจดีย์ เป็นวิหารขนาด ๕ ห้องเสา หลังคาทรงจั่ว ไม่มีมุขลด ประดับเครื่องลำยองไม้แกะสลักและประดับกระจกสี เมื่อแรกสร้างวิหารนี้ใช้เป็นศาลาโถงพักรอก่อนขึ้นสู่ลานประทักษิณ ต่อมาได้ปรับเปลี่ยนทางเข้าจากทางทิศเหนือมาเป็นทางทิศตะวันออก จึงได้ต่อเติมหลังคาทางทิศใต้ของวิหาร เพื่อคลุมบันไดทางขึ้นองค์พระมหาธาตุเจดีย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๐ ให้เป็นที่ฝึกเขียนหนังสือขอมไทยและขอมบาลีแก่พระภิกษุสามเณรอยู่ในวัดรายรอบ รวมทั้งใช้เป็นสถานที่จดจาร คัดลอก เขียนพระไตรปิฎกและเก็บรักษาพระไตรปิฎกอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนจะปรับมาใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ของวัด จึงเรียกว่า “วิหารเขียน”

ประวัติการสร้าง

วิหารเขียนสร้างเมื่อ พ.ศ. ๑๙๑๙ ดังข้อความในตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราชตอนหนึ่งว่า“เมื่อสักราชได้ ๑๙๑๙ ปี โปรดให้หลวงศรีวราวงษมาเป็นเจ้าเมือง มาทำวิหารฝ่ายอุดรพระธาตุ ทักษิณพระโพธิมณเฑียร ก่อพระสูง ๗ ศอก หล่อพระสำมฤฐองค์หนึ่งไว้ปัจฉิม เมียหล่อองค์หนึ่งไว้ฝ่ายบูรพ์ ชื่อว่าเพหารเขียน”ศักราชนี้สอดคล้องกับผลการวิเคราะห์อายุอิฐด้วยวิธี TL ที่สำนักศิลปากรที่ ๑๒ กรมศิลปากรดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๕๙ และได้วิเคราะห์ตัวอย่างอิฐจากการขุดค้น พบว่ามีอายุ ๗๑๖ ปี, ๗๒๑ ปี และ ๗๑๘ ปี (โดยมีค่าความคลาดเคลื่อน+-๓๖ ปี)

ความสำคัญและคุณค่า

โดยเหตุที่พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชเป็นศูนย์รวมศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั่วคาบสมุทรไทย แต่ละปีมีผู้นำเครื่องสักการะหลายแบบมาถวายเป็นพุทธบูชา ได้แก่ ดอกไม้เงินดอกไม้ทอง ต้นไม้เงินต้นไม้ทอง เครื่องประดับถนิมพิมพาภรณ์ พระพุทธรูปขนาดเล็ก วัตถุมงคล เครื่องรางของขลังและเหรียญกษาปณ์ เป็นต้น ถือเป็นวัตถุเพื่อการบูชาพระพุทธองค์ที่เรียกว่า“อามิสบูชา”ภายใต้แนวคิดและความเชื่อเรื่องความกตัญญูที่ชาวพุทธถือปฏิบัติมาแต่ครั้งโบราณ ข้อความที่เด่นในวิหารนี้คือ“ขอให้สำเร็จสมบัติสามประการ คือมนุษยสมบัติ แลสวรรคสมบัติ มีพระนิพพานสมบัติเป็นที่สุด ตามประเพณีอริยเจ้าแต่ก่อนนั้นแล”วัฒนธรรม“การบูชาพระบรมธาตุ”หรือ“ชาพระธาตุ”จึงเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นและชัดเจนของวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร

ศิลปวัตถุที่โดดเด่นอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งหาดูได้ยาก ได้แก่ พระพิมพ์ งาช้าง กริช เสาธง เสาหงส์ สถูปจำลอง ศาลาจำลอง เรือสำเภาจำลอง รวงข้าวแรกนา นังคัล (คันไถ) เชี่ยนหมากและตะบันหมาก ส่วนพระพุทธรูปขนาดใหญ่ซึ่งทำด้วยทองคำและเงินมีอยู่หลายองค์ เช่น พระพุทธรูปยืนทรงเครื่องที่สร้างถวายโดยเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัด) พระพุทธรูปยืนทรงเครื่องที่สร้างถวายโดยเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) พระลากทำด้วยทองคำที่สร้างถวายโดยหลวงพรหมเสนา ศิลปวัตถุและพระพุทธรูปเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นฝีมือช่างท้องถิ่นในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเจ้าของเดิมได้ถวายเป็นพุทธบูชาอันเนื่องมาจากความศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนา ยิ่งกว่านั้นยังมีศิลปวัตถุหลายชิ้นซึ่งชาวพุทธในประเทศมาเลเซียนำมาถวาย

คำสำคัญ
อามิสบูชา
สถานที่ตั้ง
วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร
ถนน ราชดำเนิน
ตำบล ในเมือง อำเภอ เมืองนครศรีธรรมราช จังหวัด นครศรีธรรมราช
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด นครศรีธรรมราช
บุคคลอ้างอิง ผศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ อีเมล์ ns-culture2009@hotmail.com
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่