ด้วยประเพณียี่เป็งเป็นประเพณีเก่าแก่ของล้านนาที่ถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๔ ในสมัยอาณาจักรหริภุญชัยได้มีประเพณีเดือนยี่เป็ง และทำพิธีลอยโขมดแล้ว มีการจัดแต่งเครื่องสักการะบูชาใส่กระทง จุดธูปเทียนและนำปล่อยลงในน้ำ แสงไฟจะกระทบกับน้ำ เกิดเป็นเงาขึ้นวับ ๆ แวม ๆ มองเห็นเป็นเสมือนแสงพะเนียงไฟผีโขมด ซึ่งผีโขมดนี้ เป็นชื่อเรียกผีป่าที่ออกหากินในเวลากลางคืน มีพะเนียงไฟมองเห็นเป็นระยะอย่างผีกระสือ ชาวล้านนาจึงเรียกว่าลอยโขมด และจากตำนานโยนก และตำนานจามเทวีวงศ์ กล่าวว่า ประเพณีลอยโขมด หรือลอยไฟเป็นประเพณีดั้งเดิมที่สืบเนื่องกันมาตั้งแต่โบราณกาล การลอยโขมด เกิดขึ้นที่อาณาจักรหริภุญไชย เมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๔๙๐ ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๔ มีกลุ่มคนมอญ หรือเม็งที่อาศัยอยู่ในเมืองหริภุญไชย ได้อพยพหนีอหิวาตกโรคที่เกิดขึ้นในเมือง ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก จึงพากันอพยพออกจากหริภุญชัย ไปอยู่ที่เมืองสะเทิมหรือสุธัมมวดี และต่อไปยังเมืองหงสาวดีเป็นเวลาถึง ๖ ปี ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวหลายคนมีครอบครัวใหม่ที่นั่น และเมื่อทราบข่าวว่าอหิวาตกโรคในหริภุญชัยได้สงบลงแล้ว จึงพากันเดินทางกลับหริภุญไชย เมื่อถึงวันครบรอบปีที่ได้จากพี่น้องที่เมืองหงสาวดี จึงจัดดอกไม้ธูปเทียน เครื่องสักการะ พร้อมทั้งเครื่องอุปโภคบริโภคใส่ลงในสะเปา ลักษณะคล้ายเรือ หรือใส่ในสะตวงหรือกระทงลอยลงน้ำแม่ปิง น้ำแม่กวง น้ำแม่ทา เพื่อส่งความระลึกถึงญาติพี่น้องที่ยังอยู่เมืองหงสาวดี จึงเป็นมูลเหตุของการลอยสะเปาหรือลอยโขมด หรือลอยกระทงนับแต่นั้นมาถึงปัจจุบัน
วัสดุอุปกรณ์ในการทำโขมดเล็ก ประเภทเสาก้านกล้วย ๑ อัน
๑. ของที่ต้องทำสำเร็จมาแล้ว
๑.๑ ใบเตยดอกกุหลาบ (ใบเตยขด) จำนวน 4 ดอก
๑.๒ ชุดดอกไม้ธูป (ดอกไม้และธูป 4 ดอก)
๑.๓ ช่อน้อยหลากสี จำนวน 12 – 16 อัน
๑.๔ ผักผลไม้หั่นเป็นชิ้นเล็ก (เช่น มะเขือ กล้วย อ้อย ผักแค เป็นต้น)
๑.๕ ของคาวหวาน (ข้าวเหนียว แคปหมู ขนมขบเคี้ยว)
๑.๖ หมากคำ เมี่ยงคำ บุหรี่ยาเส้น
๒. ของที่ต้องประกอบเอง
๒.๑ กาบต้นกล้วย ขนาดประมาณ 8 x95 ซม. จำนวน 1 อัน
๒.๒ ก้านกล้วย ยาวประมาณ 30 ซม. จำนวน 4 ก้าน
๒.๓ ดอกดาวเรือง
๒.๔ ผางประทีป 1 อัน
๒.๕ ไม้จิ้มฟัน
๒.๖ หนังยางวง
๒.๗ ใบตอง
๒.๘ แส้ไม้ไผ่
๒.๙ กรรไกรจีนใหญ่
๒.๑๐ ลวดเส้นเล็ก