วัดธรรมจักรเสมาราม เดิมชื่อว่า วัดบ้านคลองขวาง ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเมืองเสมาโบราณ ซึ่งเป็นเมืองโบราณสมัย ทวารวดี อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของเมืองเก่านครราชสีมา ก่อนที่จะย้ายมาตั้งบ้านเมืองในบริเวณพื้นที่ปัจจุบัน ที่วัดแห่งนี้ มีสิ่งที่น่าสนใจคือ “พระพุทธไสยาสน์ศิลา” หรือพระนอนหินทรายสมัยทวารวดีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อายุราว ๑,๓๐๐ ปี เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดนครราชสีมามาอย่างยาวนาน นอกจากนี้ในบริเวณใกล้กับพระพุทธไสยาสน์ศิลายังมีการขุดค้นพบ “ธรรมจักรศิลา” สมัยทวารวดีที่สมบูรณ์เพียงชิ้นเดียวในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกด้วย วัดธรรมจักรเสมาราม เป็นวัดสังกัดคณะสงฆ์มหานิกายมีเนื้อที่ ๑๖ ไร่ ๑ งาน ๘๗ ตารางวา ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. ๒๒๙๕ มีเจ้าอาวาสและรักษาการเจ้าอาวาสทั้งสิ้น จำนวน ๑๔ รูป ปัจจุบันมีพระครูธรรมจักรเสมารักษ์ (ธีระพล ชินวโร) เป็นเจ้าอาวาส สิ่งที่น่าสนใจพระพุทธไสยาสน์ศิลา (พระนอน หินทราย) หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “องค์พ่อใหญ่” ตั้งอยู่ภายในอาคาร ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ศิลา วัดธรรมจักรเสมาราม องค์พระสร้างโดยการใช้หินทรายขนาดใหญ่เรียงกันมีขนาดความยาว ๑๓.๓๐ เมตร สูง ๒.๘๐ เมตร ซึ่งเป็นพระนอนหินทรายสมัยทวารวดีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และยังเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวอำเภอสูงเนินและชาวจังหวัดนครราชสีมา ให้ความเคารพนับถืออย่างมากในฐานะของพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองนครราชสีมา พิพิธภัณฑ์วัดธรรมจักรเสมาราม ภายในจัดแสดงธรรมจักรศิลา (หินทราย) ที่สมบูรณ์เพียงชิ้นเดียวของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑.๔๑ เมตร รวมถึงยังจัดแสดงหลักฐานทางโบราณคดีอื่น ๆ ที่พบในบริเวณของเมืองเสมาโบราณและบริเวณวัดธรรมจักรเสมาราม เช่น เสาธรรมจักร แท่นประดิษฐานพระพุทธรูปฐานโยนิ ชิ้นส่วนหน้าบันและชิ้นส่วนเสาลูกมะหวดประดับวิหารพระพุทธไสยาสน์ศิลา เป็นต้น