ประวัติชุมชน
ชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนด้วยพลังบวรต้นแบบวัดห้วยแก้ว หมู่ ๒ ตำบลห้วยแก้ว อำเภอบึงนาราง ประชาชนส่วนใหญ่พูดภาษาอีสาน นับถือศาสนาพุทธ มีอาชีพเกษตรกร ทำนา ทำสวน ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปของตำบลห้วยแก้ว เป็นที่ราบลุ่ม อยู่ในพื้นที่การดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแก้ว ชุมชนคุณธรรมฯ วัดห้วยแก้ว มีคำขวัญของชุมชน คือ“วัฒนธรรมหลากหลาย ลวดลายผ้ามัดหมี่ เมล็ดข้าวพันธุ์ดี ประเพณีบุญบั้งไฟ พักผ่อนหย่อนใจบึงคูณ”และมีวัดห้วยแก้วเป็นศูนย์กลางการพัฒนา และเรียนรู้หลักธรรมคำสอนทางศาสนา โดยพระครูวิทิตชัยวัฒน์ เป็นเจ้าอาวาสวัด เจ้าคณะตำบลห้วยแก้ว ผู้นำพลังบวร ชุมชนมีความโดดเด่นด้านความยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในวิถีชีวิต และสืบสานงานประเพณีบุญบั้งไฟ ซึ่งจัดงานเป็นประจำทุกปี มีพระพุทธรูป “หลวงพ่อทันใจ” เป็นที่เคารพสักการะและยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชน
ข้อมูลมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นของชุมชน
ด้านศิลปะการแสดง
การแสดงรำเซิ้งของกลุ่มชาติพันธุ์ “ไทยอีสาน” ของชาวบ้านชุมชนคุณธรรมฯ วัดห้วยแก้วมีการร้องรำทำเพลงแบบพื้นเมืองภาคอีสาน มีลีลาและจังหวะการร่ายรำที่รวดเร็วกระฉับกระเฉง การแต่งกาย จะแต่งกายตามแบบพื้นเมืองของชาวไทยภาคอีสาน ส่วนใหญ่การเซิ้งจะใช้สำหรับรำนำขบวนแห่ในงานประเพณีต่าง ๆ
ด้านการแต่งกาย
ผู้ชายส่วนใหญ่นิยมสวมเสื้อแขนสั้นสีเข้มๆ หรือที่นิยมเรียกันกว่า "ม่อห่อม" สวมกางเกง สีเดียวกับเสื้อจรดเข่า นิยมใช้ผ้าคาดเอวด้วยผ้าขาวม้า
ผู้หญิงการแต่งกายส่วนใหญ่นิยมสวมใส่ผ้าซิ่นแบบทอทั้งตัว สวมเสื้อคอเปิดเล่นสีสัน ห่มผ้าสไบเฉียงสวมเครื่องประดับ เช่น ต่างหู กำไล สายสร้อย เป็นต้น
ปัจจุบันการแต่งกายอาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย มีความหลายหลายมากขึ้น
ด้านอาชีพ
๑. อาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ ทำสวน ทำนา ปลูกผัก
๒. อาชีพปศุสัตว์ เลี้ยงหมู และเลี้ยงวัว
ด้านประเพณี
๑. ประเพณีบุญผะเหวดงานประเพณีบุญผะเหวดเทศน์มหาชาติ เป็นประเพณีการบริจาคทานครั้งยิ่งใหญ่ คืองานมหากุศลให้รำลึกถึงการบำเพ็ญบุญ คือ ความดีที่ยิ่งใหญ่ อันมีการสละความเห็นแก่ตัว ของพระเวสสันดร เพื่อประโยชน์สุข ของมนุษยชาติ มีการฟังเทศน์มหาชาติตั้งแต่กัณฑ์แรกถึงกัณฑ์สุดท้าย โดยเชื่อว่าถ้าฟังเทศน์มหาชาติครบทุกกัณฑ์ภายในวันเดียวจะทำให้ไปเกิดในภพพระอริยเมตไตรย์ การได้รับรู้ถึงความเสียสละของพระเวสสันดร ทำให้ผู้คนได้ซาบซึ้งถึงความดีอันยิ่งใหญ่ เกิดความซาบซึ้งในพระพุทธศาสนา มีผลต่อจิตใจของผู้คนให้ยึดถือเป็นแบบอย่างที่ดีในการประพฤติปฏิบัติ เป็นวิถีการดำเนินชีวิตที่ดีงามของผู้คน จนทำให้มีการสืบทอด สืบสาน ประเพณีบุญผะเหวดเทศน์มหาชาติกันทุกหมู่บ้าน จากรุ่นสู่รุ่น การจัดงานประเพณีจึงมีคุณค่าทางสังคมเพราะประเพณีทางศาสนาเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนในสังคม เป็นศูนย์รวมของชาวพุทธทุกคน ที่ประพฤติปฏิบัติแบบเดียวกันในวันดังกล่าว
๒. ประเพณีบุญบั้งไฟประชากรอำเภอบึงนาราง ส่วนใหญ่อพยพมาจากจังหวัดต่างๆ ในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และได้นำเอาวัฒนธรรมประเพณีทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ตนเชื่อและนับถือมาปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลานาน ความเชื่อที่ว่าพอถึงเดือน ๖ ก่อนเริ่มทำการเกษตร ต้องทำพิธีบูชาพญาแถน โดยการจัดงานทำบุญ รำถวาย และจุดบั้งไฟ เพื่อเป็นการบอกกล่าว ขอพรจากพญาแถนให้การเกษตรอุดมสมบูรณ์ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลได้ผลผลิตตามที่คาดหวัง
ด้านผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมในชุมชน
๑. ผ้าทอมัดหมี่บ้านห้วยแก้วเลขที่ ๑๙๙ หมู่ที่ ๑ ตำบลห้วยแก้ว อำเภอบึงนาราง จังหวัดพิจิตร โทร. ๐๘๑-๕๓๓๖๘๐๔
๒. กลุ่มจักสานปอเฮบ้านห้วยแก้วเลขที่ ๒๐๐/๕ หมู่ที่ ๒ ตำบลห้วยแก้ว อำเภอบึงนาราง จังหวัดพิจิตรโทร. ๐๙๖-๓๕๓๑๗๘๔
แหล่งท่องเที่ยว แหล่งเรียนรู้ และสถานที่สำคัญ ชุมชนคุณธรรมต้นแบบวัดห้วยแก้ว
๑. วัดห้วยแก้วตั้งอยู่ที่ ตำบลห้วยแก้ว อำเภอบึงนาราง จังหวัดพิจิตร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีพื้นที่ทั้งหมด ๑๒ ไร่ ๒ งาน ๖๐ ตารางวา เริ่มสร้างเป็นที่พักสงฆ์ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๕ กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศตั้งเป็นวัดขึ้นในพระพุทธศาสนา นามว่า วัดห้วยแก้ว ประกาศ ณ วันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๑
พระครูพิมลถาวรกิจ (พระสวาท ถาวโร) ได้รับการแต่งตั้ง เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๑ (พ.ศ.๒๕๔๑-๒๕๔๔) ได้รับพระราชทาน วิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๒ กำหนดเขตความกว้าง ๒๓ เมตร กำหนดเขตความยาว ๔๓ เมตร
พระครูวิทิตชัยวัฒน์ (พระวันชัย กวิวํโส) ได้รับการแต่งตั้ง เป็นรักษาการแทนเจ้าอาวาส (พ.ศ. ๒๕๔๕ – ๒๕๔๙) และได้รับการแต่งตั้ง เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๐ - ปัจจุบัน
ได้รับการจัดตั้ง เป็นหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๒ - ปัจจุบัน
ได้รับการอนุมัติให้จักตั้งสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดแห่งที่ ๒๕ มติ มส. ครั้งที่ ๓/๒๕๖๓ มติที่ ๘๓/๒๕๖๓ เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๓ – ปัจจุบัน
๒. กลุ่มจักสานปอเฮบ้านห้วยแก้วมีสมาชิก จำนวน ๓๐ คน มีผลิตภัณฑ์จักสานจากปอเฮหลายชนิด เช่น ตะกร้า กระจาด กระบุง เป็นต้น นางกาเหว่า แสงภักดิ์ ประธานกลุ่มจักสานปอเฮบ้านห้วยแก้ว บ้านเลขที่ ๒๐๐/๕ หมู่ที่ ๒ ตำบลห้วยแก้ว อำเภอบึงนาราง จังหวัดพิจิตร โทร. ๐๙๖-๓๕๓๑๗๘๔
๓. กลุ่มผักปลอดภัยใยแก้วภายในสวนปลูกผักหลายชนิด เช่น พริกหยวก ถั่วฝักยาว มะระจีน แตงร้าน มะเขือเปราะ เป็นต้น โดยจำหน่ายผลผลิตภายในชุมชนออกบูธจำหน่ายตามงานต่าง ๆ ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง เป็นต้น นายจันทรา แสนโคตร ประธานกลุ่มผักปลอดภัยใยแก้ว บ้านเลขที่ ๓๑๕ หมู่ที่ ๒ ตำบลห้วยแก้ว อำเภอบึงนาราง จังหวัดพิจิตร โทร. ๐๘๕-๗๒๙๔๑๒๐
๔. กลุ่มทอผ้าบ้านห้วยแก้วเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทยอีสาน มีการทอผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน โดยเน้นการย้อมด้วยสีธรรมชาติ มีข้อดีคือสีไม่ฉูดฉาด สีธรรมชาติจะติดสีได้ดีในเส้นไหมและด้าย มีลวดลายหลากหลายที่เป็นเอกลักษณ์คือลายดอกแก้ว ซึ่งมีความสวยงามและเป็นที่นิยมของตลาดและลูกค้า โดยนางราตรี กองทรัพย์ ประธานกลุ่มทอผ้าบ้านห้วยแก้ว บ้านเลขที่ ๑๙๙ หมู่ที่ ๑ ตำบลห้วยแก้ว อำเภอบึงนาราง จังหวัดพิจิตร โทร. ๐๘๑-๕๓๓๖๘๐๔ Facebook : ราตรี กองทรัพย์
การเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวภายในอำเภอบึงนาราง
ชุมชนคุณธรรมฯ วัดห้วยแก้ว ตำบลห้วยแก้ว อำเภอบึงนาราง จังหวัดพิจิตร ห่างจากศูนย์ราชการจังหวัดพิจิตร ระยะทางประมาณ ๕๐ กิโลเมตร สามารถเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในอำเภอเมืองพิจิตร ดังนี้
๑. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดบึงนารางจัดแสดงโบราณวัตถุที่ทรงคุณค่า บอกเล่าเรื่องราวของชาวบึงนาราง อาทิหลวงพ่อสุโข เป็นพระพุทธรูปโลหะสมัยสุโขทัย หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ปางมารวิชัย สันนิฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๗๘๐ ชาวบ้านนิยมมาสักการะบูชาด้วยความศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์ เพราะเชื่อว่าหลวงพ่อ มีพุทธานุภาพ สามารถคุ้มครองป้องกันภัยพิบัติต่าง ๆ สามารถดลบันดาลให้ได้ในสิ่งที่อธิฐานสมปรารถนา
๒. โบสถ์มหาอุตถ์มีอายุกว่า ๕๐๐ ปี โบราณสถานที่ทรงคุณค่า วัดบึงนาราง อำเภอบึงนาราง จังหวัดพิจิตร
๓. อ่างเก็บน้ำบึงนารางระยะทาง ๑๐.๕ กิโลเมตร แหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของอำเภอบึงนาราง แลนด์มาร์คในการพักผ่อน ล่องแพแช่น้ำกลางบึง จองแพ หมู่ที่ ๑ มี ๕ แพ โทร ๐๘๐-๘๔๕๙๑๔๑ จองแพ หมู่ที่ ๒ มี ๔ แพ โทร ๐๘๒-๓๐๒๕๙๘๙
การเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวภายในจังหวัดพิจิตร
๑.วัดท่าหลวง (พระอารมหลวง)ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร กราบนมัสการขอพร
หลวงพ่อเพชร (พระพุทธรูปประจำจังหวัดพิจิตร) ระยะทางประมาณ ๖๕ กิโลเมตร
๒.บึงสีไฟตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร ระยะทางประมาณ ๕๑ กิโลเมตร
๓.วัดโพธิ์ประทับช้างอำเภอโพธิ์ประทับช้าง ระยะทางประมาณ ๓๗ กิโลเมตร
สิ่งอำนวยความสะดวก ร้านอาหาร เครื่องดื่ม และที่พัก
๑. โรงแรมร่มโพธิ์ทองเลขที่ ๕๙/๓ หมู่ที่ ๔ ตำบลโพธิ์ไทรงาม อำเภอบึงนาราง จังหวัดพิจิตร (ตั้งอยู่บนถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๑๗) ติดต่อสอบถามห้องพัก โทร. ๐๕๖-๙๐๓๐๔๒ ระยะทางห่างจากชุมชน ๕.๘ กิโลเมตร๒. ร้านอาหารครัวปลาฟ้าใสระยะทางห่างจากชุมชนประมาณ ๖.๓ กิโลเมตร โทร. ๐๙๘-๗๗๕๒๗๒๐ และ ๐๘๒-๐๕๒๔๒๖๙ Facebook : ครัวปลาฟ้าใส
๓. ตลาดร่วมเจริญตำบลโพธิ์ไทรงาม ระยะทางห่างจากชุมชนประมาณ ๒.๔ กิโลเมตร
๔. สถานีบริการน้ำมัน ปตท.ตั้งอยู่บนถนนสาย ๑๑๗ (นครสวรรค์ – พิษณุโลก) บริเวณสี่แยกโพธิ์ไทรงาม ตำบลโพธิ์ไทรงาม อำเภอบึงนาราง จังหวัดพิจิตร ภายในบริเวณมี Café Amazon, ร้านสะดวกซื้อ, ร้านขายของฝาก, ศูนย์อาหาร, ตู้ ATM
การเดินทางเข้าถึงชุมชนคุณธรรมฯ วัดห้วยแก้ว อำเภอบึงนาราง จังหวัดพิจิตร
ชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนด้วยพลังบวรวัดห้วยแก้ว ห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณระยะทาง ๓๐๐ กิโลเมตร สามารถเดินทางได้โดย
๑. รถยนต์ส่วนตัว
- เดินทางผ่านถนนทางหลวงหมายเลข ๑๑๗ (ถนนนครสวรรค์-พิษณุโลก) ผ่านสี่แยกโพธิ์ไทรงาม แล้วขับรถตรงมาประมาณ ๔.๐ กิโลเมตร ผ่านสถานีตำรวจภูธรบึงนาราง แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าวัดห้วยแก้ว
- ถ้ามาจากตัวเมืองพิจิตร เดินทางผ่านอำเภอสามง่าม ถึงสี่แยกปลวกสูงแล้วเลี้ยวซ้าย ขับรถตรงไปตามถนนทางหลวงหมายเลข ๑๑๗ (ถนนพิษณุโลก – นครสวรรค์) ผ่านสี่แยกหนองหัวปลวก อำเภอโพธิ์ประทับช้าง และขับรถตรงต่อไปผ่านที่ว่าการอำเภอบึงนาราง แล้วไปกลับรถที่จุดกลับรถหน้าตลาดร่วมเจริญ ตำบลโพธิ์ไทรงาม และขับรถตรงมาตามถนนทางหลวงหมายเลข ๑๑๗ (นครสวรรค์ – พิษณุโลก) ผ่านสถานีตำรวจภูธรบึงนารางแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าวัดห้วยแก้ว
๒. รถไฟ
- ลงที่สถานีรถไฟพิจิตร และต่อด้วยรถรับจ้าง ประมาณ ๖๐.๖ กิโลเมตร จากสถานรถไฟจังหวัดพิจิตรถึงชุมชนคุณธรรมฯ วัดห้วยแก้ว
๓. รถประจำทาง
- ลงที่สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดพิจิตร และต่อด้วยรถรับจ้าง ประมาณ ๕๘.๘ กิโลเมตร จากสถานขนส่งผู้โดยสารจังหวัดพิจิตร ถึงชุมชนคุณธรรมฯ วัดห้วยแก้ว
โปรแกรมการท่องเที่ยว ชุมชนคุณธรรมฯ วัดห้วยแก้ว อำเภอบึงนาราง จังหวัดพิจิตร
เวลา ๐๙.๐๐ น. – ๑๗.๐๐ น.
- นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาถึงวัดห้วยแก้ว ตำบลห้วยแก้ว อำเภอบึงนาราง จังหวัดพิจิตร กราบสักการะขอพรหลวงพ่อทันใจ พระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์
- ถ่ายรูป ณ จุดเช็คอิน บริเวณหน้าวัดห้วยแก้ว
- เยี่ยมชมกลุ่มผักปลอดภัยใยแก้ว เลขที่ ๓๑๕ หมู่ที่ ๒ ตำบลห้วยแก้ว อำเภอบึงนาราง จังหวัดพิจิตร
- เยี่ยมชม และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จักสาน อาทิ ตระกร้าปอเฮ ๒๐๐/๕ หมู่ที่ ๒ ตำบลห้วยแก้ว อำเภอบึงนาราง จังหวัดพิจิตร
- พักรับประทานอาหารกลางวัน ณ ครัวปลาฟ้าใส ตั้งอยู่ ณ บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอบึงนาราง ตำบลห้วยแก้ว อำเภอบึงนาราง จังหวัดพิจิตร
- เยี่ยมชมและเลือกซื้อผ้าไหมมัดหมี่ ผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมมัดหมี่ และสินค้าทางวัฒนธรรม (CPOT) ณ กลุ่มทอผ้าบ้านห้วยแก้ว ตั้งอยู่ ณ เลขที่ ๑๙๙ หมู่ที่ ๑ ตำบลห้วยแก้ว อำเภอบึงนาราง จังหวัดพิจิตร
- แวะพักผ่อนและเยี่ยมชมบึงน้ำขนาดใหญ่ “บึงคูณ” ตั้งอยู่ ณ บริเวณหลังที่ว่าการอำเภอบึงนาราง ตำบลห้วยแก้ว อำเภอบึงนาราง จังหวัดพิจิตร และเดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ
สถานที่ตั้ง
วัดห้วยแก้วหมู่ ๒ ตำบลห้วยแก้ว อำเภอบึงนาราง จังหวัดพิจิตร
แหล่งที่มาของข้อมูล
๑. พระครูวิทิตชัยวัฒน์เจ้าคณะตำบลห้วยแก้วและเจ้าอาวาสวัดห้วยแก้ว
ที่อยู่หมู่ ๒ ตำบลห้วยแก้ว อำเภอบึงนาราง จังหวัดพิจิตร
๒. นายชลอ บุญดีกำนันตำบลห้วยแก้ว
ที่อยู่หมู่ ๒ ตำบลห้วยแก้ว อำเภอบึงนาราง จังหวัดพิจิตร