ชื่อเรียกในท้องถิ่น:เอ็งกอ
ลักษณะมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม:เป็นศิลปะการแสดง, การละเล่นพื้นบ้าน,กีฬาพื้นบ้าน และศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว ของชาวพนัสนิคม อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี
เบอร์ติดต่อ: เทศบาลเมืองพนัสนิคม ๐ ๓๘๔๖ ๑๑๔๔ หรือ ๐ ๓๘๒๙ ๓๑๐๓, คุณเบนซ์ ๐๘ ๙๗๗๗ ๒๑๑๗
วัตถุประสงค์การจัดแสดง: เพื่อให้ชาวบ้านเกิดความสามัคคี มีสุขภาพที่แข็งแรง และเพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ประวัติความเป็นมา:
เอ็งกอของชาวอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี นั้น ได้เข้ามาครั้งแรกเมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีมาแล้ว โดยคนไทยเชื้อสายจีน ได้นำเอาศิลปะการแสดงชุดนี้มาจากประเทศจีน ซึ่งมีประวัติดั้งเดิมอยู่ว่า ที่เมืองหนึ่งของจีน มีพวกกบฏได้ทำการยึดเมือง และกระทำการไม่เหมาะสม ทำให้เหล่าขุนนาง เศรษฐี และประชาชนทั่วไป ได้รวมพลังกันเพื่อที่จะต่อสู้และต้องการให้เมืองที่ตนอาศัยอยู่ ได้กลับคืนมา กลุ่มคนเหล่านี้ซึ่งได้รวมเอาบรรดาชนต่าง ๆ ร่วมแรงร่วมใจกัน และมีความสามัคคีกัน ได้คิดถึงวิธีการต่าง ๆ ที่จะเข้าเมืองโดยไม่ถูกพวกกบฏจับได้ และที่สำคัญคือ ต้องจำหน้าไม่ได้ คนกลุ่มนี้จึงคิดการแสดงขึ้นมาชุดหนึ่งให้มีความแตกต่างกันกับการแสดง งิ้ว และเรียกขานว่า “เอ็งกอ”
ในการแสดงเอ็งกอนั้น จะแฝงไปด้วยความศรัทธา และความเชื่อต่าง ๆ เช่น นักแสดงเอ็งกอจะแต่งหน้าและท่าทางให้เหมือน บู้ซ้ง พระจีน ซึ่งเป็นวีรบุรุษเขาเหลียงซาน และการแสดงแต่ละครั้งถ้าเป็น ชุดสมบูรณ์จะต้องใช้ผู้แสดงจำนวน ๑๐๘ คน แต่ในปัจจุบันมักจะไม่ครบ เนื่องจากการแสดงการเตรียมความพร้อมทั้งร่างกาย จิตใจ และเสื้อผ้า ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือหลายอย่าง อีกสาเหตุก็คือ ถ้ามีผู้แสดงครบ ๑๐๘ คน มักจะมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นทุกครั้ง คือ จะต้องมีผู้เสียชีวิต ๑ คน ใน ๑๐๘ คนนี้ จึงทำให้ผู้แสดงมีจำนวนไม่ครบจนถึงทุกวันนี้ และส่วนใหญ่ที่แสดงโชว์ หรือออกงาน ประเพณีต่าง ๆ มักจะมีผู้แสดงอย่างต่ำ ๔๐ รายขึ้นไปเสมอ ซึ่งไม่รวมพวกที่ ตีล้อ เป่าเขาควาย ตีกลองใหญ่ ฉาบเล็ก ฯลฯ
ผู้แสดงเอ็งกอในสมัยก่อนมักจะใช้ผู้ที่มีใจรัก โดยผู้แสดงจะมีอายุตั้งแต่ ๑๗ ปีขึ้นไป ไม่เกิน ๓๕ ปี หลังจากฟื้นฟูเพื่อสืบสานตำนานเอ็งกอจะมีผู้แสดงที่อายุต่ำสุดที่ทำการแสดงคือ ๔ ขวบ จนถึงอายุไม่เกิน ๒๕ ปี ทั้งนี้เพื่อต้องการให้เด็กและเยาวชน ได้รู้จัก และรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมอันดีงามนี้ไว้
ก่อนการฝึกซ้อมหรือแสดง ต้องเชิญผู้ใหญ่ทำพิธีอัญเชิญเทพเจ้าตามความเชื่อถือของชาวจีน คือ ต้นข้าวที่เป็นต้นกำพร้า แต่มีสภาพที่สมบูรณ์ นำไปแห่รอบตลาด รอบเมือง เพื่อความเป็นสิริมงคล หลังจากนั้นนำไปประทับ ณ สถานที่ฝึกซ้อม มีโต๊ะบูชาเทพเจ้า และปักร่มไว้บนโต๊ะ ให้นักแสดงกราบไหว้เคารพบูชาทุกครั้ง และทุกวันต้องมีของมงคล โดยเฉพาะขนมจันอับ ผลไม้ มาไหว้บูชา น้ำดื่ม น้ำชาต้องไม่ขาด การฝึกซ้อมจะเน้นกำลังของร่างกาย แขน ขา ทุกส่วนของร่างกาย เพื่อความพร้อมเพรียงและกระบวนท่าที่สวยงาม
ก่อนการแสดง ต้องนำขนมไหว้ของชาวจีน ที่เรียกว่า “ง่วนก้วย” นำมาไหว้ และเต้นแสดงให้เทพเจ้าเห็น หลังจากนั้นนำขนมไหว้ ให้ผู้แสดงรับประทาน คนละเล็กละน้อย ทั้งนี้เพื่อเป็นสิริมงคลในการแสดง ไม่ให้เกิดอุปสรรคใด ๆ เป็นการสร้างขวัญกำลังใจ และทุกครั้งที่กระทำตามนี้ ไม่เคยบังเกิดเหตุการณ์ใด ๆ ที่เป็นสิ่งไม่ดีเลย
การแสดงจะใช้ผู้ถือธง (เปรียบเสมือนการให้สัญญาณในการรบ) ซึ่งทำจากไม้ไผ่ทั้งลำ และธงที่มีพื้น สีแดง มีภาษาจีนอยู่กลางธงเป็นอักษรที่กล่าวถึง ชาวเม่งจื้อ และมียอดโคมไฟ หรือที่เรียกว่า “เต็งรั้ง” ห้อยแขวนอยู่ที่ปลายยอดไม้ไผ่ มีนักแสดงอื่น ๆ ก็จะเต้นประกอบจังหวะกันไป การแสดงที่เป็นเอกักษณ์ของอำแภอพนัสนิคม การเต้นจะใช้ตั้งแต่ศีรษะ ลงไปจนถึงเท้า แขน ขา ยกสูง ต้องใช้ความว่องไวในการแสดง และมีการตั้งขบวน โดยไล่ตามระดับจากสูงสุดไปต่ำสุด จะเริ่มเดินจากแถวตอนยาวแล้วคดเป็นรูปงู สามารถแปรขบวนจากหนึ่งแถวไปจนถึงสี่แถวตอนลึก ท่าที่ใช้หลัก ๆ ได้แก่
- ท่าสอดไม้ สอดกลอง
- ท่าหมอบพื้น
- ท่ายกแขน ยกขาสูงในการตีไม้
- ท่าจ้อเน้ย และจะจบด้วยยืนตรง ทำท่าโค้งงอแสดงถึงความเคารพ
ลักษณะการแต่งกายจะแต่งกายคงวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมของประเทศจีน จะเน้นสีดำ แถบขาว มีการพันผ้าที่หน้าแข้ง ผ้าทับอก ผ้าโพกศีรษะ หมวก จะแต่งให้มิดชิดเหมือนกับนักรบที่เตรียมพร้อมในการออกรบ ส่วนใบหน้าจะแต่งตามลักษณะของนักแสดง ถ้าหน้าหวานจะวาดหน้าให้อ่อนช้อย ถ้าหน้าเข้มจะวาดหน้าให้ห้าวหาญ และน่าเกรงขาม สีที่ใช้วาดหน้านักแสดงนั้นจะเน้นสีขาว สีดำและสีแดงเป็นหลัก
ลักษณะเฉพาะ:
เอ็งกอ เป็นศิลปะการแสดงที่พบอยู่หลายจังหวัดในประเทศไทย เช่น จังหวัดชลบุรี จังหวัดตรัง จังหวัดนครสวรรค์ ฯลฯ ซึ่งเอ็งกอในเมืองพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี มีเอกลักษณ์ที่ต่างจากที่อื่น คือ จะใช้การยกแขนสูง และการยกขาสูง ใช้กำลังกายมาก ใช้ความรุนแรง โดยจะเรียกลักษณะเหล่านี้ว่า “พระบู้” ซึ่งเอ็งกอในแต่ละท้องที่ จะมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไป