การแต่งกายชนเผ่าไทยโซ่ดงหลวง
ชุมชนบ้านดงหลวง ตำบลดงหลวง อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร
๑. ชื่อข้อมูลการแต่งกายชนเผ่าไทยโซ่ดงหลวง
๒. รายละเอียดข้อมูล
๒.๑ ความเป็นมา
ในสมัยรัชกาลที่ ๒ เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๓๕๙ ชาวกะโซ่กลุ่มหนึ่งซึ่งมีถิ่นฐานเดิมอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง บริเวณเมืองมหาชัย ในแขวงคำม่วน และเมืองอื่น ๆ ในแขวงสะหวันเขต ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปัจจุบัน โดยการนำของ ท้าวเพี้ยแก้ว นครอินทร์ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษผู้นำชาวกะโซ่ได้อพยพเข้ามาเพื่อตั้งถิ่นฐานในภาคอีสานของประเทศไทย เมื่อมาถึงพื้นที่แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร แวดล้อมไปด้วยที่ราบลุ่มและเชิงเขา เหมาะสมในการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์เพื่อการดำรงชีพ จึงตั้งถิ่นฐานในที่แห่งนั้น และเรียกชื่อว่า “บ้านดงหลวง” โดยมีหัวหน้าชาวกะโซ่ เป็นผู้นำหมู่บ้าน ต่อมาได้เป็นกำนันตำบลดงหลวงคนแรก มีนามบรรดาศักดิ์ว่า “หลวงวาโนไพรพฤกษ์” ชาวกะโซ่ในพื้นถิ่นส่วนมากใช้นามสกุลเดียวกัน คือ “วงค์กระโซ่” และ “โซ่เมืองแซะ”
ในพื้นที่ตำบลดงหลวง ประชากรจะเป็นชนเผ่ากะโซ่ทุกหมู่บ้าน ซึ่งเราจะเรียกว่า “ไทยโซ่ ดงหลวง”ไทยโซ่ตำบลดงหลวง นั้น เป็นชนเผ่าที่ยังคงรักษาสืบทอดวัฒนธรรม ประเพณี พิธีกรรม ที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์และสืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ประจำเชื้อชาติ ที่เด่นชัดคือ พิธีกรรมโซ่ถั่งบั้ง หรือสลา เป็นพิธีกรรมในการบวงสรวงดวงวิญญาณของบรรพบุรุษประจำปี หรือเป็นพิธีกรรมเพื่อเรียกขวัญรักษาคนเจ็บไข้ พิธีกรรมซางกระมูดในงานศพ มีการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์โดยจะเน้นสีดำ หรือสีคราม แต่ในปัจจุบันชาวไทยโซ่ดงหลวงจะแต่งกายเป็นไปตามสมัยนิยม เพราะความสะดวกในการซื้อหา และการทอผ้าพื้นเมืองมีจำนวนลดน้อยลง คนรุ่นใหม่ขาดการสืบทอดแต่ชาวไทยโซ่ดงหลวงจะพร้อมใจกันแต่งกายชุดประจำชนเผ่า เมื่อมีงานประเพณี การทำพิธีกรรม การแสดงต่าง ๆ ซึ่งชุดประจำชนเผ่าจะมีเก็บไว้ประจำทุกบ้าน
๒.๒ การผลิตผ้าเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันของชาวไทยโซ่ดงหลวงชาวไทยโซ่ดงหลวง ที่มีวิวัฒนาการ ในการผลิตผ้าที่เป็นเอกลักษณ์และจุดเด่นเป็นของตนเอง มีการทอผ้าด้วยมือ ซึ่งสืบทอดกันมาเป็นเวลานานมาแล้ว ส่วนเครื่องมือในการผลิตผ้านั้น ยังคงใช้แบบดังเดิม มีการเปลี่ยนมาใช้กี่กระตุกในบางส่วน ที่ส่วนราชการเข้าไปช่วยเหลือ ส่วนลายผ้าที่ผลิต มักนิยมนำธรรมชาติมาใช้ เช่น รูปทรงเลขาคณิต สัตว์ ปู ปลา หรือหงส์ การนำมาใช้สอยมีมากมาย นับตั้งแต่การผลิตผ้าเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ผ้าโสร่ง เสื้อแขนกระบอก กางเกงขาก๊วย กางเกงใน (หัวฮูด) ผ้าโจงกระเบน ผ้าเบี่ยง ผ้าขาวม้า และเสื้อสำหรับผู้หญิง จะมีผ้าซิ่น เสื้อ ผ้าเบี่ยง ผ้าเช็ดหน้า (แพรมน) เป็นต้น และการผลิตผ้าที่ทำไว้ใช้ในครัวเรือน เช่น ปลอกหมอน ที่นอน ผ้าห่ม เป็นต้น ปัจจุบันการผลิตผ้าของชาวไทยโซ่ดงหลวง ได้ลดน้อยลงไปแล้ว เนื่องจากหาผู้สืบทอด ยากมากกรรมวิธีการผลิตผ้าที่แสดงถึงภูมิปัญญาดั้งเดิมนำผลของฝ้ายที่ปลูกเองซึ่งส่วนมากจะเป็นสีขาว มาเข้าสู่กระบวนการผลิตแบบดั้งเดิม ตั้งแต่การอิ้วการเข็นเป็นเส้น นำมาย้อมสีดำหรือสีครามตามที่ต้องการ สืบเข้ากับฟืม นำมาค้นหูกเพื่อทอ และเข้าสู่กระบวนการทอโดยใช้กี่ เมื่อทอเสร็จได้ผ้ามาเป็นผืนแล้วนำมาตัดเย็บด้วยมือเป็นเสื้อผ้า และเครื่องนุ่งห่ม ต่อไปกรรมวิธีการผลิตผ้าซึ่งพัฒนา สร้างสรรค์ และปรับปรุงประยุกต์เป็นการนำผืนผ้าที่ได้จากการทอแล้ว ซึ่งเป็นผืนสีดำหรือสีครามมาตัดเป็นเสื้อ ด้วยเครื่องจักรโดยเพิ่มผ้าขาวขลิบที่ปลายแขน นำผ้าเก็บหรือผ้าขิด ขนาดกว้าง ประมาณ ๑ นิ้ว มาติดที่ปกเสื้อด้านหน้า และบริเวณคอเสื้อ โดยทั้งชายและหญิงจะเพิ่มผ้าแถบนี้ลงบนเสื้อเหมือนกัน จะแตกต่างกันที่รูปทรงของเสื้อ ซึ่งชายกับหญิงจะมีรูปทรงที่แตกต่างกันไปซึ่งได้ปรับปรุงการแต่งกายให้สวยงามมากขึ้น แต่ยังคงสีดำ หรือสีครามไว้ และสามารถนำเสื่อนี้สวมใส่ได้ในทุกโอกาส โดยมีการเพิ่มแถบขาวที่แขน ปกเสื้อและที่คอเสื้อ โดยแถบนั้นจะเป็นผ้าเก็บหรือผ้าขิด
๒.๓ การแต่งกายของชาวไทยโซ่ดงหลวงในสมัยก่อนชาวไทยโซ่ดงหลวงจะทอผ้าไว้ใช้เองทุกครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นผ้าฝ้าย ทอเป็นผ้าขาวม้า ทอเป็นผ้าผืน นำมาตัดเย็บเป็นเสื้อ กางเกง ปลอกผ้านวม เป็นต้น มีสีขาวดำ หรือสีคราม ด้านการต่างกาย ของชาวไทยโซ่ดงหลวง มีลักษณะดังนี้
ชายใส่เสื้อดำ คอกลมตั้งเล็กน้อย ข้างหน้าผ่าอกตลอดกางเกงใช้กางเกงขาก๊วย บางครั้งนุ่งผ้าดำ สอดเตี่ยวสูง (ผ้าทาง) ผมตัดทรงกระบอก เวลามีงานเทศกาล ใช้ผ้า (ส่วนใหญ่จะใช้ผ้าขาวม้าลายขาวดำ) เก็บโพกหัวและมัดเอว ใส่รองเท้าทำด้วยหนังควย มีถุงผ้าสำหรับใส่อุปกรณ์การทำงาน หรือสิ่งของต่าง ๆ สำหรับชายที่เรียนวิชาอาคมทางไสยศาสตร์ มักคล้องลูกปะคำทำด้วยแก้วหรือลูกมะกล่ำไว้ด้วย
หญิงหญิงชาวไทยโซ่จะนุ่งผ้าซิ่นในชีวิตประจำวัน ซึ่งผ้าซิ่นนี้ประกอบด้วยผ้าสามส่วน แถบบนเป็นหัวซิ่นช่วงกลางเป็นตัวซิ่น และส่วนล่างคือตีนซิ่น และมักต่อเชิงด้วยผ้าทอยกดอก หากเป็นผ้าซิ่นไหม ส่วนตีนซิ่น จะเย็บต่อเชิงด้วยไหมมัดหมี่ ช่างทอผ้าบางคนทอผ้าขาวรองเป็นชั้นในเวลามีงานเทศกาล ใช้ผ้า (ส่วนใหญ่จะใช้ผ้าขาวม้าลายขาวดำ) เก็บโพกหัว
ทรงผมของหญิงขาวไทยโซ่ดงหลวง มักเกล้ามวยด้วยผมปลอมหรือซ้องผม (ภาษาโซ่ เรียกว่า มะยวล) เพื่อเสริมให้ทรงผมสูงและน่าดูยิ่งขึ้น หากแต่งตัวเพื่อร่วมในพิธีสำคัญ จะใส่กำไลข้อมือ ข้อเท้า สร้อยเงิน (หมากตุ้ม) ต่างหูเงิน และมีผ้าสไบพาดบ่า (นิยมทอด้วยการขิด)
๒.๔ อัตลักษณ์จากการที่ชาวไทยโซ่ดงหลวง ได้อนุรักษ์ สืบสาน วัฒนธรรมประเพณีต่าง ๆ ไว้นี้ การประกอบกิจกรรมจะต้องมีผู้ร่วมกิจกรรม หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ต้องเป็นชาวไทยโซ่เสมอ ในการประกอบพิธีกรรม บางพิธีกรรมนั้น จะต้องเน้นที่การแต่งกายที่คล้ายกันหรือเหมือนกัน เพื่อแสดงถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และการมีส่วนร่วมในพิธีกรรมอย่างแท้จริง ในอดีตนั้นการแต่งกายจะเน้นเสื้อสีดำ หรือสีคราม เนื่องจากเป็นเสือผ้าที่ใช้มาตั้งแต่บรรพบุรุษ ด้วยมีความเชื่อว่า สีดำนั้นไม่เป็นที่สะดุดตาเมื่อหลบภัย สีดำเปื้อนยาก สีดำเมื่อใส่กลางแดดจะไม่ร้อนมากและสามารถผลิตและหาได้ง่ายจากวัสดุที่มีในพื้นถิ่น จึงใช้สีดำเป็นชุดในการประกอบพิธีกรรมและใช้ในชีวิตประจำวันมาโดยตลอด