ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 13° 34' 38.1938"
13.577276057401164
ลองจิจูด (แวง) : E 101° 38' 46.9534"
101.64637594044193
เลขที่ : 195438
ผ้าไหมลายหนามเตย บ้านอ่างเตย
เสนอโดย ฉะเชิงเทรา วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565
อนุมัติโดย ฉะเชิงเทรา วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565
จังหวัด : ฉะเชิงเทรา
1 540
รายละเอียด

บ้านอ่างเตย หมู่ที่ ๙ ตำบลท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา แยกมาจากบ้านหนองปรือกันยาง หมู่ที่ ๕ ตำบลท่าตะเกียบ กิ่งอำเภอสนามชัยเขต เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖ เนื่องจากพื้นที่ของหมู่บ้านมีลักษณะเป็นอ่าง เมื่อนำมารวมกับความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยเตยป่าที่ขึ้นอยู่ในลำห้วยที่ไหลผ่านหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงพากันเรียกพื้นที่แห่งนี้ว่า “บ้านอ่างเตย” จนถึงปัจจุบัน ชุมชนบ้านอ่างเตย ประชากรส่วนใหญ่อพยพมาจากภาคอีสานตอนล่าง และส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ ทำไร่ ทำนา สวนผลไม้ ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และได้มีการนำภูมิปัญญาการทอผ้าที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของทางภาคอีสานมาถือปฏิบัติจนเป็นภูมิปัญญาที่อยู่คู่กับวิถีชุมชน โดยชุมชนบ้านอ่างเตยมีการรวมตัวกันก่อตั้งกลุ่มทอผ้าไหมบ้านอ่างเตยขึ้น เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ และมีการถ่ายทอดภูมิปัญญาการทอผ้าไหมบ้านอ่างเตยให้แก่สมาชิกในชุมชนจากรุ่นสู่รุ่น โดยชุมชนบ้านอ่างเตยได้ร่วมกับกรมหม่อนไหม ดำเนินโครงการสร้างทายาทหม่อนไหมในชุมชนขึ้น เพื่อสืบสานภูมิปัญญาการทอไหมในชุมชน

และเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๓๖ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขณะดำรงพระอิสริยายศเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่๙ ได้เสด็จทรงเยี่ยมชาติภูไท เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน อำเภอท่าตะเกียบ มีชาวบ้านทูลเกล้าฯ ถวายผ้าไหม พระองค์ทรงตรัสถามชาวบ้านที่ถวายผ้าไหมว่า “แถวนี้มีผ้าไหมด้วยเหรอ?” เหตุการณ์ครั้งนั้นนับเป็นจุดเริ่มต้นที่เปิดโอกาสให้ ผ้าไหมอ่างเตยได้แสดงผลงานในสวนจิตรลดา และได้รับการพัฒนาต่อยอดโดยการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเสนอความคิดเห็นต่อผู้นำชุมชน และมีการจดทะเบียนตั้งวิสาหกิจชุมชนกับสำนักงานเกษตรอำเภอท่าตะเกียบ ในนาม “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทอผ้าบ้านอ่างเตย” เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๐

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ชุมชนบ้านอ่างเตย ได้ร่วมกับกรมหม่อนไหมออกแบบผ้าไหมลวดลายหนามเตย ให้เป็นลวดลายที่สื่อถึงอัตลักษณ์ของชุมชนบ้านอ่างเตย โดยผ้าไหมลายนามเตยนั้น ได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างลวดลายบนผืนผ้ามาจากต้นหนามเตยซึ่งเป็นต้นไม้ที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น และเป็นที่มาของชื่อบ้าน “อ่างเตย” และในปี พ.ศ.๒๕๖๑ ชุมชนบ้านอ่างเตยได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ โดยสาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ดำเนินการออกแบบตราสัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมบ้านอ่างเตย ภายใต้แบรนด์ “โส๊ดละออ” มีความหมายถึง “ผ้าไหมผืนสวย” ที่เป็นเอกลักษณ์ของผ้าบ้านอ่างเตยเพื่อการจัดจำหน่าย

กลุ่มทอผ้าไหมบ้านอ่างเตย เป็นกลุ่มทอผ้าที่ดำเนินการในการสืบทอดภูมิปัญญาด้านการทอผ้าที่ ครบวงจรตั้งแต่การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม การทอผ้า ซึ่งมีทั้งผ้าขาวม้า ผ้าลายโฮล ลายมัดหมี่ ซึ่งเป็นลายดั้งเดิมของภูมิปัญญาทางภาคอีสาน และผ้าไหมมัดหมี่ลายหนามเตย ซึ่งเป็นลายเอกลักษณ์ของชุมชนบ้านอ่างเตย ตลอดจนการนำผ้าทอไปตัดเย็บเป็นกระเป๋า และผลิตภัณฑ์ของใช้ของที่ระลึกอื่น ๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ ชุมชนบ้านอ่างเตย โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชน “กลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทอผ้าบ้านอ่างเตย” ยังเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมด้านการทอผ้า โดยเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวเข้าชมแปลงหม่อน และทดลองสาวไหม ทอผ้าด้วยตนเอง จึงเป็นเหตุให้มีหน่วยงาน องค์กร และประชาชน เข้าศึกษาดูงานและเยี่ยมชมวิสาหกิจชุมชน “กลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทอผ้าบ้านอ่างเตย”จำนวนมาก

สถานที่ตั้ง
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทอผ้าบ้านอ่างเตย
หมู่ที่/หมู่บ้าน 9
ตำบล ท่าตะเกียบ อำเภอ ท่าตะเกียบ จังหวัด ฉะเชิงเทรา
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทอผ้าบ้านอ่างเตย
บุคคลอ้างอิง พิกุล สวัสดี
เลขที่ 312 หมู่ที่/หมู่บ้าน 9
ตำบล ท่าตะเกียบ อำเภอ ท่าตะเกียบ จังหวัด ฉะเชิงเทรา
โทรศัพท์ 0639405950
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่