ความเป็นมา อัตลักษณ์ สาระคุณค่าของประเพณี
“ควาย” เป็นสัตว์ขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง ที่มีความผูกพันกับมนุษย์มาแต่สมัยดึกดำบรรพ์ จากหลักฐานภาพเขียนก่อนยุคประวัติศาสตร์ของมนุษย์โบราณ ปรากฏภาพควาย ปลา และสัตว์ป่าบางชนิด เขียนอยู่ตามถ้ำต่าง ๆ โดยทั่วไปแสดงให้เห็นว่าควายเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญในชีวิตประจำวันของมนุษย์ มาแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์
ในประเทศไทยเชื่อว่า “ควาย” มีบทบาทสำคัญ เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนไทยใช้เป็นแรงงานเพื่อการเกษตร การขนส่งและการคมนาคม แม้แต่ในการสงครามยังใช้ควายเป็นพาหนะในการต่อสู้ข้าศึก เช่น การต่อสู้ของชาวบ้านบางระจันเป็นต้น “ควาย” จึงถือว่าเป็นสัตว์ที่มีบุญคุณต่อชาติไทยเป็นอย่างมาก
พิธีสู่ขวัญควาย หรือ ฮ้องขวัญควาย เป็นพิธีที่ทำกันเมื่อเสร็จจากการปลูกข้าวแล้ว เป็นการเตือนใจให้ระลึกถึงบุญคุณของควายที่ได้ให้แรงงานไถนาให้คนสามารถปลูกข้าวได้ซึ่งบางครั้งอาจมีการเฆี่ยนตี ดุด่า จึงต้องทำพิธีนี้เพื่อเป็นการขอขมาที่ได้ล่วงเกิน เป็นการสอนให้คนรู้จักความกตัญญูรู้คุณ มีเมตตากรุณา สำนึกในความผิดของตน ผู้ทำพิธีมักเป็นเจ้าของควายเอง หรือในกรณีที่ไม่สันทัดในการทำพิธีอาจให้ผู้อื่นทำแทนได้
เครื่องทำพิธีสู่ขวัญควาย
การทำพิธีสู่ขวัญควาย จะประกอบพิธีบริเวณคอกควาย โดยจะต้องเตรียมเครื่องทำพิธี ดังนี้
๑. จะต้องจัดเตรียมหญ้าอ่อนมากเพียงพอให้ควายกินตลอดช่วงทำพิธีประมาณ ๑ - ๒ กวย (ตะกร้า)
๒. ดอก ไม้ ธูป เทียน ๓ กรวย (๑ กรวย = ธูป ๔ ดอก เทียน ๔ แท่ง)
๓. ไก่ต้ม ๒ ตัว
๔. เหล้าขาว ๑ ขวด
๕. ข้าวเหนียว ๑ ปั้น
๖. กล้วยลูก ๑ ลูก
๗. หมาก ๑ คำ
๘. พลู ๑ ใบ
๙. ด้ายสายสิญจน์และน้ำส้มป่อย
พิธีสู่ขวัญควย
ผู้ประกอบพิธีจะนำเครื่องพิธีวางไว้ที่มุมใดมุมหนึ่งของคอกควาย แล้วใส่แอกเข้ากับควาย จากนั้น กล่าวคำเชิญขวัญ เมื่อกล่าวถึงท่อนที่ว่า "ปลดแอกแล้ว" ก็ให้ทำการปลดแอกออก แล้วนำกรวยดอกไม้ธูปเทียน มัดไว้ที่เขาควายข้างละ 1 กรวย อีกกรวยผูกไว้ที่ด้านหลังของหัวควาย หลังจากกล่าวคำเชิญขวัญจบลงก็จะทำการป้อนข้าวป้อนน้ำให้แก่ควาย พร้อมกับนำน้ำส้มป่อยมาประพรมควายเป็นการขอขมา การประกอบพิธีนี้อาจมีรายละเอียดแตกต่างกันบ้างในแต่ละท้องถิ่น
สถานที่ตั้งบ้านดงหลวง หมู่ที่ ๓ ตำบลดงหลวง อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร
ผู้ให้ข้อมูลนายบุญเทียม วงค์กระโซ่ ปราชญ์ชาวบ้าน บ้านดงหลวง หมู่ที่ ๓ ตำบลดงหลวง อำเภอดงหลวงจังหวัดมุกดาหารโทรศัพท์๐๘ ๖๘๕๙ ๑๑๘๓