กระยาสารท เป็นขนมโบราณที่เกิดขึ้นจากภูมิปัญญาของคนไทยที่นำเอาธัญพืชหลากหลายชนิดมาเป็นส่วนผสมหลัก อาทิข้าวตอก ข้าวเม่า ถั่วลิสง งา นำมากวนกับน้ำอ้อยจนกว่าจะเหนียวกรอบเกาะกันเป็นปึก สามารถปั้นเป็นก้อน หรือตัดเป็นชิ้นๆ เก็บรักษาไว้ได้นาน ขนมกระยาสารทยังเกี่ยวข้องกับประเพณีของคนไทยมาตั้งแต่บรรพบุรุษ คือจะนิยมทำกัน ในช่วงเทศกาลสารทไทย หรือสารทเดือนสิบ ซึ่งจะตรงกับวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ของ ทุกปี เมื่อถึงวันนี้พุทธศาสนิกชนจะนำอาหารทั้งคาวและหวาน ขนมกระยาสารท ไปทำบุญใส่บาตร ถือเป็นขนมหลักสำคัญที่จะต้องทำเพื่อนำไปทำบุญในช่วงเทศกาลสารทไทย ที่พุทธศาสนิกชนปฏิบัติสืบต่อกันมา แต่ในปัจจุบันสามารถหาทานได้ตลอดปี มีแหล่งจำหน่ายทั่วไป
กระยาสารท ของกลุ่มอาหารแปรรูปกระยาสารทบ้านหนองปลาไหล ตำบลหนองไผ่ อำเภอหนองขาหย่าง จังหวัดอุทัยธานี เริ่มร่วมกลุ่มเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๔๐ โดยมีนางพจนี บุญอาจ เป็นประธานกลุ่ม มีสมาชิกเริ่มแรก ๑๕ คน ด้วยมีความคิดว่าต้องการเพิ่มรายได้ จากการทำนา ทำไร่ ทดลองทำอาหารมาหลากหลายชนิด แต่ผลกำไรไม่ดีนัก แต่เมื่อมาทำกระยาสารท มีลูกค้าให้ความสนใจสั่งซื้อ จึงผลิตเรื่อยมา การทำกระยาสารทของนางพจนี เริ่มเรียนรู้วิธีทำมาตั้งแต่วัยเด็กจากบิดามารดา และเมื่อนำมาเป็นผลิตของกลุ่มฯ ก็คิดปรับปรุงสูตรจนมีความอร่อยมากขึ้น มีลูกค้าทั้งภายในจังหวัดอุทัยธานี และต่างจังหวัด สั่งซื้อเป็นจำนวนมาก
องค์ประกอบของอาหาร (สูตร)
กระยาสารท ๑๒๐ กิโลกรัม มีส่วนผสมดังนี้
กะทิ จำนวน ๕๐ กิโลกรัมน้ำตาลปีบ จำนวน ๓๐ กิโลกรัมถั่วลิสงคั่ว จำนวน ๕๐ กิโลกรัมงาขาว,งาดำ จำนวน ๑๐ กิโลกรัมข้าวราง (ข้าวเม่า) จำนวน ๑๒ กิโลกรัมข้าวตอก จำนวน ๖ กิโลกรัม
ขั้นตอนการทำกระยาสารท
นำกะทิลงกระทะเคี่ยวให้แตกมัน ใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมงนำน้ำตาลลงกระทะเคี่ยวต่อไปอีกประมาณ ๒ ชั่วโมงนำแบะแซลงกระทะเคี่ยวต่อไปอีกประมาณ ครึ่งชั่วโมง จนส่วนผสมทั้งหมดมีลักษณะ ข้นเหนียว ปิดแก๊สนำข้าวตอก ข้าวราง(ข้าวเม่า) ถั่ว งา ใส่ลงกระทะ คนส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากันจนแห้ง ทิ้งให้เย็น พร้อมรับประทาน