บ้านหาดสอสงแคว อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งบ้านและวัดยังคงผูกพันกันเหนียวแน่น แต่การใส่บาตรยามเช้าของคนหาดสองแควไม่ธรรมดาเหมือนที่อื่นๆเพราะเป็นการ “ตักบาตรหาบจังหัน” ที่มีความพิเศษแตกต่างจากที่อื่นนั้น เรียกว่า “การตักบาตรหาบจังหัน” หรือ "ประเพณีการการหาบสาแหรก" ซึ่งเป็นประเพณีท้องถิ่นที่กระทำสืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ โดยในยามเช้า พระสงฆ์จากวัดหาดสองแควจะแบ่งสายกันออกเดินบิณฑบาตไปตามหมู่บ้าน เดินไปจนสุดเส้นทางแล้วก็จะเดินกลับโดยยังไม่มีชาวบ้านคนใดออกมาใส่บาตร ขณะที่พระเริ่มเดินกลับนี่เอง ชาวบ้านที่อยู่ท้ายบ้านจะตีเกราะเป็นสัญญาณให้ทุกบ้านรู้ เพื่อจะได้ออกมายืนรอตักบาตร ความพิเศษที่น่ารักของการตักบาตรหาบจังหันอยู่ตรงการนำกับข้าวไปถวายพระที่วัดนั่นเอง โดยเมื่อพระสงฆ์เดินกลับวัดไปแล้ว แต่ละบ้านก็จะนำสำรับอาหารหรือปิ่นโตมาวางบนแป้นไม้หน้าบ้าน จากนั้นก็จะมีคนหาบสาแหรกไม้คานสายละ 3-4 คน นำสำรับอาหารของแต่ละบ้านที่วางบนแป้นไม้เหล่านั้นหาบไปถวายพระสงฆ์ที่วัด สาแหรกจิ๋วจึงเป็นผลิตภัณฑ์ประยุกต์จากการตักบาตรหาบจังหัน “จังหัน” เป็นภาษาโบราณ แปลง่ายๆ ได้ความว่าภัตตาหารที่ใช้ถวายพระสงฆ์ ส่วน “สาแหรก” แปลว่าเครื่องใส่ของสำหรับหิวหรือหาบ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนลุงสมาน ประดับเพ็ชร์ มีการถอดแบบสาแหรกมาเป็นสาแหรกจิ๋วสำหรับใส่แก้วน้ำ เป็นกิจกรรมที่นำทรัพยากรทางด้านวัฒนธรรมของชุมชนที่มีอยู่มาต่อยอดโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นทางด้านจักรสานมาสร้างผลิตภัณฑ์อันเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ที่เรียกว่า “สาแหรกจิ๋ว” โดยนักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้ขั้นตอนการทำพร้อมทดลองทำสาแหรกด้วยตนเอง และสามารถนำกลับไปเป็นของที่ระลึกได้