การทำขวัญข้าว
ความเป็นมาและความเชื่อ
ชาวบ้านตำบลหนองโรง อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่ และในแต่ละปีจะจัดประเพณีทำขวัญแม่โพสพ (ทำขวัญข้าว) ซึ่งเป็นประเพณีสำคัญของชาวนาที่ทำสืบทอดกันมาแต่โบราณ โดยจะกระทำกันในช่วงข้าวตั้งท้อง เพื่อเป็นการขอบคุณแม่โพสพที่ให้ความอุดมสมบูรณ์แก่ผืนนา มีความเชื่อว่า ถ้าได้มีการทำขวัญข้าวจะไม่ทำให้เมล็ดข้าวล้ม ไม่มีหนอน และสัตว์ต่างๆ มากัดกินข้าว ทำให้ได้ผลผลิตอุดมสมบูรณ์ซึ่งการทำขวัญข้าวชาวบ้านจะทำกันในช่วงเดือนตุลาคม และมีการกำหนดวัน คือจะต้องมีการกระทำขึ้นระหว่างวันจันทร์กับวันศุกร์ แค่ ๒ วันเท่านั้น ถ้าวันดังกล่าวตรงกับวันพระก็จะไม่ทำ ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่ข้าวกำลัง ตั้งท้อง การทำขวัญข้าวจะต้องทำในช่วงเช้าจนถึงเที่ยงวัน ผู้ทำพิธีทำขวัญข้าวจะต้องเป็นผู้หญิง ซึ่งในช่วงเช้าวันนั้นชาวบ้านจะเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ ประกอบด้วย ธงผ้าสี ในธงนั้นจะต้องมีผ้าสีแดงและขาวอยู่ปนด้วยจะขาดไม่ได้ ข้าวปากหม้อ แกงปากหม้อ หมากพลู ขนมกระยาสารท และผลไม้ประเภทกล้วย ส้ม อ้อย และผลไม้รสเปรี้ยว จากนั้นต้องมีเครื่องแต่งตัว เช่น เสื้อผ้า สร้อย แหวน แป้งจันทร์ น้ำมันหอม และน้ำมนต์ที่ทำในวันออกพรรษาสำหรับนำไปรดต้นข้าว เพื่อจะได้ให้ต้นข้าวออกข้าวได้ง่ายไม่มีโรคภัย
กระบวนการและพิธีกรรม
กระบวนการในการทำขวัญข้าวเริ่มจากการเตรียมเสาธง ซึ่งทำจากเรียวรวก เรียวไผ่ สูงประมาณ ๓ เมตร ทำร้าน โดยใช้ไม้ไผ่ผ่าซีก ปูร้านสูงประมาณ ๑ ศอก กว้างยาวประมาณ ๔๐ เซ็นติเมตร มีธงหลากสีติดกับเสาธง มีชะลอมติดเสาธง ๑ ใบ นำร้านดังกล่าวพร้อมปักธงที่มุมนา มีดอกไม้ (ดาวเรือง) เอาเครื่องสังเวยใส่กระทงเล็กๆ วางบนร้านพร้อมน้ำ (ในชะลอมติดธงจะใส่เครื่องสังเวยต่างๆ ยกเว้นข้าวสุก ซึ่งจะต้องวางไว้บนร้าน เพื่อถวายเจ้าที่เจ้าทาง การแต่งตัวแม่โพสพ เอาน้ำมนต์ที่นำมา อาบแม่โพสพ (ต้นข้าว) นำหวี แป้งจันทร์ น้ำมันหอมทาต้นข้าว นำผ้าและสไบผูกต้นข้าว นำทอง แหวน คล้องที่ต้นข้าว จากนั้น
จุดธูปและเทียนพร้อมดอกไม้ แล้วพูดอัญเชิญแม่โพสพโดยใช้คำพูดต่อไปนี้ “แม่โพศรี แม่โพสพ แม่นพมโนราห์แม่จันทราเทวี แม่ศรีสุดา วันนี้วันดี คืนดี ลูกเอาเครื่องเซ่นมาถวาย เชิญแม่มาเสวยเครื่องสังเวยที่ลูกนำมาถวายในวันนี้ จากนั้นลูกขอให้ข้าวของลูกออกดีๆ รวงงามๆ ไม่มีโรคภัย ให้ได้รวงละหม้อ กอละสัด มัดละฟั่น อันละเกวียน”เมื่อธูปหมดดอกก็จะลาเครื่องเซ่นไหว้ และนำน้ำในแก้วมากรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้เทพยดาฟ้าดินโดยทั่วกัน เป็นอันจบพิธี
การทำขวัญข้าว ชาวบ้านในชุมชนตำบลหนองโรงยังคงดำรงและอนุรักษ์ไว้ซึ่ง ประเพณี วัฒนธรรม ภูมิปัญญาชาวบ้าน และการเล่นต่างๆ ซึ่งสื่อให้เห็นถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของชาวบ้านในตำบลหนองโรง ก่อให้เกิดความรักและภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ของชุมชนของตน เป็นสื่อเชื่อมความรู้สึกของคนในท้องถิ่นให้เกิดความสามัคคีกลมเกลียว นำไปสู่การเสริมสร้างความมั่นคงของคนในชุมชนเอง และตระหนักถึงคุณค่าของการศึกษาและสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีเหล่านี้ให้ดำรงอยู่สืบไป
สถานที่จัดพิธีกรรม
บ้านหนองโรง ตำบลหนองโรง อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี