การจักสานหญ้าสามเหลี่ยมของบ้านห่างทางหลวง เป็นสิ่งที่ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนาน ตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ จะนานเท่าใดในประวัติไม่มีการจดบันทึกไว้ เดิมทีที่มีการจักสานสืบต่อกันมา เป็นการประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือน เพื่อใช้ในการยังชีพ เช่น กระบุง กระติ๊บข้าว เสื่อ กระด้ง หวดนึ่งข้าว ข้อง ไซ เป็นต้น
ต่อมา ประมาณปี พ.ศ. 2518 ณ ศูนย์อพยพบ้านสบตวง อำเภอแม่จริม ซึ่งเป็นที่พักอาศัยชั่วคราวของหมู่มวลมนุษย์ที่ลี้ภัยสงครามเย็นในสมัยนั้น ซึ่งมาจากหลายเผ่าพันธุ์ ทั้งจากประเทศลาว ม้ง และคนไทยที่ประสบปัญหา พลัดบ้านหลงเมืองมาอาศัยทำมาหากินอยู่ที่นั่น รวมทั้งชาวบ้านห่างทางหลวงด้วย โดยการอุปถัมภ์ค้ำชูของรัฐบาลไทย และUN
หลังจากนั้น มูลนิธิอ็อคเคนเดนเวนเจอร์ ซึ่งเป็นองค์กรเอกชน (NGO) ได้มาทำงานในศูนย์อพยพ แห่งนั้นด้วย มาเห็นลวดลายอันสวยงาม ฝีมืออันประณีตจากการจักสานหญ้าสามเหลี่ยม ของชาวบ้านห่างทางหลวง จึงได้นำไปจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง ชาวบ้านมีรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ มีรายการสั่งซื้อมาไม่ขาดสายทางมูลนิธิ ฯ และลูกค้าจึงได้ออกแบบผลิตภัณฑ์/ลวดลายเพิ่มเติมที่เคยผลิต อาทิเช่น เสื่อ กระติ๊บข้าวกระเป๋าชุดใส่ผลไม้ แผ่นรองจาน กระจาด กล่องใส่ทิชชู่ การสานหุ้มภาชนะต่าง ๆ เช่น แจกัน ขวด กระป๋อง โอ่ง ฯลฯ
วัตถุดิบและส่วนประกอบ
1. หญ้าสามเหลี่ยม
2. ก้านตอง
3. มีด
4. แจกัน
5. กรรไกร
ขั้นตอนการผลิต
1. นำหญ้าสามเหลี่ยมและก้านตองดิบมาจัก/เหลา แล้วตากแดดเก็บไว้ให้แห้ง ก่อนจะนำหญ้าสามเหลี่ยมมาใช้ก็จะนำไปตากหมอกตอนกลางคืน เพื่อให้ตอกบาน แล้วนำมาเหลาทำเป็นเส้นเล็ก ๆ
2. นำหญ้าสามเหลี่ยมมาสานคู่กับก้านตอง โดยสานตามรูปทรงของแจกันเป็นลวดลายต่าง ๆ ตามที่ต้องการ
3. นำแจกันที่สานเสร็จแล้ว ไปทาแล็คเกอร์แล้วนำไปตากให้แห้ง เพื่อเตรียมสำหรับจำหน่ายให้ลูกค้า