นายสำอางค์ พึ่งครุฑ เกิดเมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๔๘๙ ปัจจุบันอายุ ๗๖ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๗/๑ หมู่ ๓ บ้านลานคา ต.ดงขวาง อ.หนองขาหย่าง จ.อุทัยธานี การศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔
นายสำอางค์ พึ่งครุฑ เป็นช่างตอกลายกระดาษ ตัดกระดาษเป็นลวดลายต่างๆ สำหรับใช้ประดับในงานมงคลต่างๆ จะทำส่งร้านค้าในจังหวัดอุทัยธานี นายสำอางค์ เริ่มเรียนรู้การสร้างสรรค์งานจากกระดาษเป็นลวดลายต่างๆ เมื่อประมาณอายุ ๑๖-๑๗ ปี เนื่องด้วยมีความชอบ สนใจ เห็นจาการตกแต่งอาคารบ้านเรื่อน ในงานบุญต่างๆ เมื่อเห็นผู้ใหญ่ทำ ก็จะเข้าไปดู และขอทำ เริ่มจากการหัดพับกระดาษและตัดกระดาษ ด้วยลวดลายง่ายๆ โดยจดจำวิธีการทำ ฝึกผนจนเกิดความชำนาญ จึงเริ่มคิดวิธีการพับกระดาษและตัดกระดาษด้วยตนเอง ได้ลวดลายที่สวยงาม จนมีผู้มาว่าจ้างอยู่เป็นประจำ และต่อมาได้นำวิธีฉลุลายด้วยการตอกกระดาษมาใช้ เนื่องด้วยสามารถฉลุลายได้ที่ละหลายแผ่น นายสำอางค์ สามารถฉลุลายกระดาษได้หลากหลาย ถ้ามีผู้ว่าจ้างนำรูปหรือลวดลายต่างๆมาจ้างให้ฉลุ ก็สามารถฉลุลายได้ตามนั้น
ปัจจุบันนายสำอางค์ ได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรในการสอนการตอกกระดาษ ตัดกระดาษ ให้กับผู้สนใจ โดยเฉพาะเด็กนักเรียนตามโรงเรียนต่างๆมากมาย
วัสดุในการตอกลายกระดาษ
๑. สิ่วขนาดต่างๆ
๒. ตุุ๊ดตู่
๓. ค้อน
๔. กรรไกร
๕. ลวดเย็บกระดาษ
๖. เขียง
๗. ปากกา
๘. กระดาษว่าว
ขั้นตอนการทำ
1.การผูกเขียนภาพ หรือลวดลายที่จะใช้เป็นแบบแผนสำหรับใช้สลักกระดาษ มีวิธีการ 2 ลักษณะ คือ การผูกรูปภาพ หรือลวดลายแบบเจาะช่องไฟ หรือผูกลายทิ้งพื้น และแบบเจาะตัวลายหรือผูกลายทิ้งลาย
2.แบบร่าง หรือแบบอย่างที่ผูกเขียนขึ้น สำหรับจะได้ใช้งานสำหรับสลักกระดาษ จะต้องเขียนให้เท่าขนาดจริง และ เป็นลายเส้นชัดเจน ถ้าเป็นงานสลักกระดาษที่ต้องการทำลวดลายต่อเนื่องด้วยแม่ลายเดียวกัน จะต้องคัดลอก แม่ลาย ขึ้นจากแบบร่าง ที่เป็นต้นแบบไว้ให้มากแผ่น เราเรียกว่า “แม่แบบ”
การเตรียมงานสลักกระดาษ
1.ขั้นต้น จะต้องตัดกระดาษชนิดที่เลือกไว้ สำหรับงานสลักกระดาษให้ได้ขนาดเดียวกับแม่แบบ
2.ขั้นที่สอง นำเอากระดาษฟาง มาตัดเป็นแผ่นให้ได้ขนาดเท่ากับแม่แบบ ให้ได้จำนวนมากกว่ากระดาษที่จะใช้สลักรูปภาพ กระดาษฟางนี้เรียกว่า “ใบซับ” จะใช้วางคั่นระหว่างกระดาษที่จะใช้สลักกระดาษแต่ละแผ่น
3.ขั้นที่สาม จัดกระดาษวางให้เป็นลำดับ สำหรับจะทำการสลัก โดยมีใบซับคั่นไว้แต่ละแผ่น กระดาษที่วางลำดับเรียบร้อยแล้วนี้เรียกว่า “ตั้ง”
4.ขั้นที่สี่ เป็นการใส่ “หมุด” ร้อยลงที่มุมตั้งกระดาษทั้ง 4 มุม กำกับตั้งกระดาษมิให้เลื่อนหรือ เหลื่อมหลุดออกจากกันขณะทำการสลัก
การสลักกระดาษ
การสลักกระดาษ ทำเป็นลวดลาย หรือรูปภาพ ให้ได้งานสลักดังแบบอย่างที่ได้ผูกเขียนทำขึ้นเป็นแบบ ดังนี
นำตั้งกระดาษที่ได้วางแม่แบบ และใส่หมุดไว้แล้ว มาวางบนเขียงไม้ ใช้สิ่วหน้าต่างๆ และขนาดต่างๆ ตอกเจาะ หรือสลักเดินไปตามลายเส้นแม่แบบ ตอนใดที่ต้องการให้เป็นรู เป็นดวง จะใช้ตุ๊ดตู่ เจาะปรุ หรือหากต้องการทำเป็นเส้นเพื่อแสดงส่วนรายละเอียดเป็นเส้นไข่ปลา ก็ต้องใช้เหล็กปรุตอกดุนขึ้นมาข้างใต้ตัวลาย หรือรูปภาพ ซึ่งต้องทำภายหลังสลักทำเป็นลวดลายครบถ้วนแล้ว
การรื้อตั้งกระดาษ
เมื่อสลักกระดาษแต่ละตั้ง สำเร็จแล้ว จึงรื้อตั้งกระดาษออก โดยปลดหมุดแต่ละตัว แล้วจึงปลดกระดาษออกจากใบซับกระดาษเพื่อนำไปใช้งานต่อไป