ศาลเจ้าแม่บ้านโป่ง(อาม่า) ตั้งอยู่เลขที่ ๒ ถนนริมน้ำตลาดบ้านโป่ง ตำบลบ้านโป่ง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี หมายเลขโทรศัพท์ ๐๓๒ – ๒๑๑๖๗๒ ประวัติศาลเจ้าแม่บ้านโป่ง ตามคำเล่าขานสืบต่อกันมาว่า เมื่อประมาณ ๑๐๐ กว่าปีที่แล้ว ประมาณปี พ.ศ. ใดไม่ทราบ ได้มีคนจีนอัญเชิญองค์ม่าโจ้ว จากอำเภอผู่ฉั่งจี่ จังหวัดฮกเกี้ยน ประเทศจีน เดินทางโดยทางเรือมาถึงแม่น้ำแม่กลอง บริเวณท่าเรือและสถานที่ขนถ่ายสินค้า ปากคลองหลวงสิทธิ์ ในอำเภอบ้านโป่ง ก็ได้ปักฐานอาศัยอยู่แถวท่าเรือ อัญเชิญองค์ ม่าโจ้วไว้บูชาที่บ้านของตนเอง ต่อมาเมื่อคนจีนผู้นั้นแก่ชรามีอายุมากขึ้น จึงได้สร้างศาลไม้เล็ก ๆ ขึ้น ๑ หลัง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลองที่บริเวณหัวสะพานปากคลองหลวงสิทธิ์ แล้วอัญเชิญองค์ม่าโจ้วที่ตนบูชามาไว้ที่ศาลไม้หลังนั้นเพื่อให้ทุกคนทั่วไปได้กราบไหว้บูชา ในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ปีมะเมีย เป็นปีที่ตลาดบ้านโป่งเกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ได้เกิดอัคคีภัย ไฟไหม้ตลาดบ้านโป่งเป็นครั้งที่ ๒ ไฟได้เผาผลาญร้านค้า บ้านเรือนจนหมดทั้งตลาด เว้นไว้แต่ศาลม่าโจ้วเท่านั้นที่ไม่ได้รับความเสียหายจากไฟไหม้ในครั้งนี้ ทำให้ชาวตลาดบ้านโป่งและใกล้เคียงมีความเคารพนับถือและศรัทธาในองค์ม่าโจ้วมากยิ่งขึ้น
หลังจากปี พ.ศ. ๒๔๙๗ อีกประมาณ ๑ – ๒ ปี ชาวตลาดบ้านโป่งได้ร่วมกันสร้างศาลม่าโจ้วเป็นเรือนไทยขึ้นใหม่ หันหน้าลงแม่น้ำแม่กลองในบริเวณเดียวกัน มีขนาดใหญ่กว่าและบริเวณกว้างกว่าศาลเดิม เมื่อสร้างเสร็จได้อัญเชิญองค์ม่าโจ้วมาประดิษฐานในศาลหลังใหม่นี้
ต่อมาประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ศาลม่าโจ้วได้ทรุดโทรมลง คณะกรรมการโรงเจบ้วนฮกตั้วและชาวตลาดบ้านโป่งได้ช่วยกันบริจาคทรัพย์ เพื่อสร้างศาลหลังใหม่ทำด้วยปูนคอนกรีตและได้ร่วมกันสร้างรูปจำลององค์ม่าโจ้วรูปไม้สักแกะสลักขึ้นอีก ๑ องค์ มีขนาดใหญ่กว่าองค์เดิม
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ คณะกรรมการโรงเจบ้วนฮกตั้วได้ขออนุญาตองค์ม่าโจ้วสร้างศาลม่าโจ้วหลังใหม่และรูปจำลององค์ม่าโจ้วรูปไม้สักแกะสลักปิดทองคำขนาดใหญ่ขึ้นอีก ๑ องค์ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปลายปี พ.ศ. ๒๕๓๔ และทำพิธีเปิดศาลหลังใหม่อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๕ และขออนุญาตองค์ม่าโจ้วใช้ชื่อเป็นภาษาไทยว่า “ศาลเจ้าแม่บ้านโป่ง”
จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๓๙ จึงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการศาลเจ้าแม่บ้านโป่งขึ้น ปัจจุบันมีนายมนต์ชัย ชินวินิจกุล เป็นประธาน โดยแต่ละปีจะมีการจัดงานขึ้น ๒ ครั้ง ดังนี้
ครั้งที่ ๑ ฉลองวันเกิดของเจ้าแม่บ้านโป่ง(ม่าโจ้ว) ตรงกับ ซาว๊วยยี่จับซายิก(วันที่ ๒๓ เดือน ๓ ของจีน) ประมาณเดือน เมษายน – พฤษภาคม
ครั้งที่ ๒ ฉลองงานประจำปีเจ้าแม่บ้านโป่ง(ม่าโจ้ว) ประมาณเดือน พฤศจิกายน – ธันวาคม